TKP HEADLINE

ป่าไผ่ผากกับวิถีชุมชนคนหนองแหน

"ป่าไผ่ผาก" เป็นแหล่งเรียนรู้ที่เป็นธรรมชาติ ตั้งอยู่ในพื้นที่ตำบลหนองแหน อำเภอพนมสารคาม  จังหวัดฉะเชิงเทรา ปัจจุบัน "ป่าไผ่ผาก" มีจำนวน 2 แห่ง ประกอบด้วย ป่าชุมชนบ้านป่าไร่ มีเนื้อที่จำนวน 357 ไร่ 1 งาน 31 ตารางวา ตั้งอยู่ในพื้นที่หมู่ที่ 14 บ้านป่าไร่ ชาวบ้านจะเรียกป่าแห่งนี้ว่า  "ป่าผากใหญ่"  และอีกแห่งคือ ชุมชนบ้านหนองแหน มีเนื้อที่จำนวน 64 ไร่ 1 ตารางวา โดยตั้งอยู่ในพื้นที่หมู่ที่ 12 บ้านหนองแหน  ซึ่งชาวบ้านจะเรียกป่าแห่งนี้ว่า "ป่าผากเล็ก" ซึ่งป่าทั้ง 2 แห่งนี้ถือเป็นแหล่งอาหารและแหล่งที่ชาวบ้านใช้ประโยชน์เพื่อการดำรงชีวิต  เช่น การนำไม้ไผ่มาเผาถ่าน การนำหน่อไม้มาประกอบเป็นอาหารคาวหวาน   การนำใบไผ่มาห่อขนมจ้าง


ป่าไผ่ผาก" หรือที่ชาวบ้านในสมัยก่อนเรียกว่า "ป่าเดิ่นนางแร้ง" อดีตป่าแห่งนี้เป็นป่าธรรมชาติที่มีความอุดมสมบูรณ์  มีพืชพันธุ์ไม้   ทั้งไม้ยืนต้น ไม้พุ่ม และไม้ขนาดเล็ก เช่น ต้นประดู่ ตะแบก งิ้วป่า โมกโคก ตะโกนา และมะหวด รวมถึงสัตว์ป่า เช่น ไก่ป่า นก สุนัขจิ้งจอก กระรอก และกระแต และยังมีพืชสมุนไพร เช่น กระชายป่า ว่านเขียวพุ่ม เถาวัลย์เปรียง มะขามป้อม และสะเดา ป่าแห่งนี้  มีการใช้ประโยชน์มาอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับ  มีการถางป่า เพื่อการนำไปใช้ในการทำไร่  ทำนา ปลูกมันสำปะหลัง จึงทำให้ชาวบ้านใช้ประโยชน์จากป่านี้ โดยมิได้คำนึงถึงการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ส่งผลทำให้พื้นที่ป่าลดลง ต่อมาในปี พ.ศ. 2550  องค์การบริหารส่วนตำบลหนองแหนร่วมกับผู้นำท้องถิ่น เช่น นายพนมชัย สมงาม ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 12 บ้านโคกน้อย และนายประจบ เนาวโอภาส อดีตผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 14 บ้านป่าไร่ และผู้แทนภาคประชาชนในพื้นที่บางส่วนได้ร่วมกันศึกษาและดำเนินการเพื่อขอขึ้นทะเบียนป่าไผ่ผาก ทั้ง 2 แห่ง   ซึ่งได้รับความร่วมมือจากนักวิชาการเผยแพร่ กลุ่มงานส่งเสริมและพัฒนาป่าชุมชน ในการให้ข้อมูลความรู้เชิงวิชาการเพื่อดำเนินการขึ้นทะเบียนป่าชุมชน จนส่งผลให้ป่าไผ่ผากทั้ง 2 แห่ง ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นป่าชุมชน ตั้งแต่วันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2550 เป็นต้นมา


หลังจากที่เกิดสถานการณ์ปัญหามาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535  จนนำไปสู่การร่วมกันคิดของผู้นำท้องถิ่นและผู้แทนภาคประชาชน ทำให้ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นป่าชุมชน ในปี พ.ศ. 2550 จนปัจจุบัน มีการกำหนดช่วงเวลาการเปิดป่าคือ วันที่ 1 พฤษภาคม - 30 กันยายนของทุกปี และช่วงเวลาปิดป่า คือ วันที่ 1 ตุลาคม - 30 เมษายนของทุกปี นอกจากนี้ในวันแรกของการเปิดป่าจะมีประเพณีทำบุญเปิดป่าไผ่ผาก โดยมีคณะกรรมการของป่าไผ่ผากร่วมกับชุมชนในการจัดพิธีกรรมทางสงฆ์ การทำบุญตักบาตร เพื่อทำการเปิดป่าให้คนในชุมชนเข้าไปหาของป่าและหน่อไม้ได้ และเช่นเดียวกันในวันแรกของการปิดป่าจะมีการทำบุญตักบาตรและมีการบวชป่า   เป็นที่ทราบกันว่าเป็นการปิดป่าลงแล้ว ห้ามเข้าไปหาของป่าและหน่อไม้จนกว่าจะมีการทำบุญเปิดป่าอีกครั้งในวันที่ 1 พฤษภาคม ของปีถัดไป


          "ไผ่ผาก"  ถือเป็นต้นไม้ที่มีคุณค่าต่อการดำเนินชีวิตของชาวบ้านในชุมชนตำบลหนองแหน  ซึ่งชาวบ้านจะนำหน่อไผ่ผากมาทำอาหารคาวหวาน เช่น หน่อไม้ผัดไข่ หน่อไม้ดอง แกงเปรอะหน่อไม้ แกงส้มหน่อไม้สด และขนมหน่อไม้ ใบไผ่ผากนำมาใช้ห่อข้าวเหนียวเพื่อทำเป็นขนมจ้าง  ลำต้นไผ่นำมาเผาทำถ่าน หรือทำเป็นรั้วต่าง ๆ ได้ แต่ในปัจจุบันต้องได้รับการอนุญาตจากคณะกรรมการป่าชุมชนก่อนจึงจะสามารถตัดได้
  

จากผลการดำเนินงานเกี่ยวกับการอนุรักษ์ "ป่าไผ่ผาก" ที่ผ่านมามีปัจจัยที่ส่งผลต่อความสำเร็จ เกิดจากการที่ผู้นำเล็งเห็นความสำคัญของการเรียนรู้ร่วมกับประชาชนในพื้นที่  ความร่วมมือของผู้นำท้องถิ่น หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ตลอดจนประชาชนที่ให้ความสำคัญเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลและอนุรักษ์ป่าชุมชน “ป่าไผ่ผาก”

ตำแหน่งที่ตั้ง  :  ตั้งอยู่ใน หมู่ 12 และ หมู่ 14 ตำบลหนองแหน อำเภอพนมสารคาม 
                          จังหวัดฉะเชิงเทรา
การเดินทาง   :  จากที่ว่าการอำเภอพนมสารคาม ใช้เส้นทางชนบทถนนหมายเลข 3076 
                          ระยะทาง  6.8 กิโลเมตร


     ข้อมูลเนื้อหา  :  นายจร  เนาวโอภาส  เลขานุการป่าชุมชน”ไผ่ผาก”
                                           ผู้เขียน / เรียบเรียง โดย : นางสมจิตร  สมาน 
ภาพถ่าย / ภาพประกอบ โดย : นางสมจิตร  สมาน และคณะ ครู กศน.อำเภอพนมสารคาม
ข้อมูล TKP อ้างอิง: https://424chachoengsao.blogspot.com/2021/08/blog-post_20.html

  





  



  




Share this:

Post a Comment

ข้อคิดเห็นจากเครือข่าย TKP

 
Copyright © 2018 Thailand Knowledge Portal. Designed by OddThemes > Developed by mediathailand