ในสภาพที่วัฒนธรรมตะวันตกหลั่งไหลเข้ามาอย่างมากมาย ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เศรษฐกิจ และชุมชนอย่างรวดเร็ว วิถีชีวิตของชาวบ้านอาจปรับเปลี่ยนไปบ้าง ซึ่งถือได้ว่าเป็นเรื่องปกติของปุถุชนที่จะต้องปรับตัวอยู่ตลอดเวลา แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ชุมชนในตำบลบ้านธิ ยังคงวิถีชีวิตเป็นสภาพสังคมทางการเกษตรอยู่ตามเดิม และน้ำก็ยังเป็นปัจจัยที่สำคัญในการดำเนินชีวิตของชาวบ้าน จึงก่อเกิด “ประเพณีเลี้ยงผีขุนน้ำ” มาตั้งแต่บรรพชนสืบทอดสู่คนรุ่นหลังให้ยึดถือปฏิบัติ เพื่อเป็นการสร้างจิตสำนึกให้คนในชุมชนเกิดความหวงแหนในจารีตประเพณีและสร้างความรัก ความสามัคคีในการที่จะร่วมกันอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวมให้มากที่สุด ดังคำที่ว่า “แม้กาลเวลาผ่านไป จารีตคงไว้อยู่คู่ชุมชน”
พิธีเลี้ยงผีขุนน้ำ
ศาลเจ้าพ่อขุนน้ำแม่ธิที่รวมศรัทธาคนลุ่มน้ำธิ
• ความเป็นมาของ “ประเพณีเลี้ยงผีขุนน้ำ”
น้ำแม่ธิ...สายน้ำแห่งชีวิต
น้ำแม่ธิ คือ ลำน้ำสายหลักที่หล่อเลี้ยงไร่นาของชาวบ้าน 20 หมู่บ้าน มีแหล่งกำเนิดจากผืนป่า เทือกเขาสลับซับช้อน ทิศตะวันออกมีอาณาเขตติดต่อกับอำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูน และทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ติตต่อกับห้วยลาน อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ จุดเริ่มต้นของลำน้ำเกิดจากลำห้วยหลายสายไหลมารวมกัน ซึ่งได้แก่ ห้วยหก ห้วยปลาดุก แง่ซ้ายห้วยปู ห้วยส้าน ห้วยฟันฟาก ห้วยปูดอก ห้วยปลาก้าง ห้วยแม่มีน และห้วยเลี้ยงผี ซึ่งลำห้วยเหล่านี้ชาวบ้านธิ เรียกว่า “ขุนธิ” หมายถึง แหล่งกำเนิดของแม่น้ำสายสำคัญ ที่เรียกติดปากว่า "น้ำแม่ธิ" มีจุดเริ่มต้นอยู่ในพื้นที่บ้านดอยเวียง ด้วยพระมหากรุณาธิคุณ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระราชดำริให้กรมชลประทานสร้างอ่างเก็บน้ำไว้ในฤดูน้ำหลาก และปล่อยลงสู่ลำน้ำแม่ธิในช่วงที่ฝนไม่ตก ราษฎรต้องการน้ำ เป็นผลทำให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ บรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ผู้คน
“เหมืองฝาย” ภูมิปัญญาชาวบ้าน จุดเริ่มต้นของประเพณีเลี้ยงผีขุนน้ำ
เมื่อ 40-50 ปีก่อนชาวบ้านเกือบทุกหลังคาเรือนจะประกอบอาชีพหลัก คือ ทำนา พื้นที่ปลูกข้าวมักจะปลูกในที่ราบลุ่ม มีน้ำอุดมสมบูรณ์ อาศัยน้ำฝนในการทำการเกษตร ซึ่งชาวบ้านเรียกว่า “น้ำฟ้า” หากฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล ก็ทำให้ขาดแคลนน้ำในการทำการเกษตรไปด้วย ด้วยเหตุนี้ชาวบ้านทุกหมู่บ้านจึงต้องช่วยเหลือตัวเองด้วยการช่วยกันทำ ทำนบกั้นน้ำ หรือที่เรียกว่า “เหมืองฝาย” เพื่อกั้นน้ำเอาไว้ในลำน้ำหลัก ให้ไหลไปตามร่องน้ำหรือเหมืองในทิศทางที่ต้องการ ดังนั้นบรรดาชาวบ้านทั้งหลายจึงมีการประชุมเลือกหัวหน้าเหมืองฝายขึ้น เพื่อทำหน้าที่เป็นผู้นำในการสร้างฝาย ตลอดลำน้ำแม่ธิจึงมีการสร้างฝายขึ้นเป็นจุด ๆ
เมื่อใกล้ฤดูฝน หัวหน้าเหมืองฝายจะนัดหมายให้เจ้าของนาที่มีส่วนได้รับการแบ่งปันน้ำของแต่ละฝาย จะต้องตัดไม้หลักมาคนละมัดใหญ่ ๆ ไม้ที่ใช้เป็นไม้ไผ่ชนิดที่ไม่มีรูกลวง ขนาดสูงประมาณ 1-1.5 เมตร ตัดปลายให้แหลม แล้วนำมาปักเรียงขวางตามลำน้ำ ใช้ไม้ท่อนตอกระหว่างหลัก วางก้อนหินใหญ่แทรกลงไป หรือบางทีก็สานเป็นตะกร้าใส่ก้อนหินลงไปในลำน้ำ เอาไม้หลักตอกกั้นไว้ ไม่ได้ใช้ไม้เสาท่อนใหญ่ หรือคอนกรีตขวางทางน้ำ ไม่มีประตูปิด-เปิด เวลาฝนตกหนัก น้ำไหลแรง บางส่วนจะไหลเข้าเมือง ส่วนที่เหลือก็จะไหลล้นฝายไปตามลำน้ำแม่ธิ ไปพบกับฝายถัดไป เวลาน้ำแรงจัดก็ทำลายฝายกั้นน้ำพังทลายลงไปทั้งแถบ ฉะนั้นจึงมีการซ่อมแชมกันทุกปี ปีละหลาย ๆ ครั้ง เวลาเหมืองฝายชำรุด หัวหน้าเหมืองฝายจะทำหน้าที่ประชุมชาวบ้านที่เป็นสมาชิก พากันไปตัดต้นไม้เพื่อช่อมแชม
ในการทำงานทุกคนจะต้องร่วมกัน ถ้าไม่มาช่วยกันจะถูกปรับไหมเป็นเงิน ข้าว หรือจะไม่ได้รับแบ่งปันน้ำจากเหมืองฝาย การแบ่งน้ำจะถูกกำกับดูแลอย่างใกล้ชิดจากหัวหน้าเหมืองฝาย หรือที่เรียกว่า “แก่ฝาย” จึงไม่ค่อยมีเรื่องทะเลาะวิวาทแย่งชิงน้ำกัน ระบบเหมืองฝายของชาวบ้านจึงเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งที่ชี้ให้เห็นถึงความรัก ความสามัคคี ของคนในชุมชน ประเพณีเลี้ยงผีขุนน้ำได้ถูกกำหนดขึ้นพร้อม ๆ กับระบบเหมืองฝายของชาวบ้าน ยิ่งทำให้มองเห็นถึงความฉลาดของคนในสมัยโบราณ ที่สามารถนำเอาลัทธิความเชื่อ จารีตประเพณีของบรรพชนมาประยุกต์ใช้กับการดำเนินชีวิต ก่อให้เกิดพลังศรัทธาในการประกอบอาชีพ เป็นผลให้เกิดความสันติสุขขึ้นในสังคม
• พิธีเลี้ยงผีขุนน้ำ
คุณครูวิเชียร ปัญญาใหญ่ ผู้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการเลี้ยงผีขุนน้ำ กล่าวไว้ว่า
“ผีขุนน้ำ” หรือ
“เทวดารักษาน้ำ” เป็นลัทธิความเชื่อที่ถ่ายทอดจากบรรพชนหลายชั่วอายุคน
การเลี้ยงผีขุนน้ำ ของชาวบ้านในสมัยโบราณ ผูกติดกับความเชื่อที่ว่า ผีขุนน้ำสามารถที่จะบันดาลความผาสุก ความร่มเย็น ความอุดมสมบูรณ์ของพืชพันธุ์ธัญญาหาร ตลอดจนดูแลป้องกันให้คนในชุมชนอยู่รอดปลอดภัยจากภัยธรรมชาติและโรคภัยไข้เจ็บทั้งมวล ทุกปีจึงให้มีการบวงสรวง จัดหาเครื่องเซ่นไหว้บูชาเลี้ยงผีขุนน้ำ ณ ฝายเลี้ยงผีขุนน้ำแม่ธิ หมู่ที่ 9 บ้านดอยเวียง ทุกวันแรม 9 ค่ำ เดือน 9 ซึ่งวันที่กำหนดไว้นี้ห้ามเปลี่ยนแปลง ซึ่งจะเป็นที่รู้กันโดยทั่วไปของชาวบ้านธิในอดีตว่า วันแรม 9 ค่ำ เดือน 9 ของทุกปี คือ เป็นวันเลี้ยงผีขุนน้ำ หากปีใดมีการเลี้ยงผีขุนน้ำ ไม่ตรงกับวันแรม 9 ค่ำ เดือน 9 จะก่อให้เกิดโทษมากกว่าคุณ เช่น ฝนฟ้าไม่ตกต้องตามถดูกาล พืชสวนไร่นาเสียหาย เกิดโรคระบาดไปทั่ว จึงมักจะไม่มีการฝ่าฝืนจารีตดังกล่าว
“แก่ฝาย” หรือหัวหน้าเหมืองฝาย ต้องรับผิดชอบประเพณีเลี้ยงผีขุนน้ำ โดยก่อนจะถึงวันแรม 9 ค่ำ เดือน 9 หัวหน้าเหมืองฝายจะเป็นผู้แจ้งข่าวให้สมาชิกของแต่ละฝ่ายทราบเพื่อร่วมกันเตรียมการจัดพิธี โดยจะแบ่งหน้าที่รับผิดชอบเป็นฝ่าย ๆ ฝ่ายจัดการสถานที่ หัวหน้าเหมืองฝายที่ได้รับมอบหมายจะต้องนำสมาชิกเข้าป่าเพื่อจัดเตรียมสถานที่ที่จะประกอบพิธีก่อนวันเลี้ยงผี 1 วัน โดยทำการแผ้วถางจุดที่ทำพิธี ทำแคร่ยกพื้นสูงด้วยไม้ไผ่ สำหรับวางเครื่องบวงสรวง ส่วนเครื่องบวงสรวง จะประกอบด้วย เนื้อสัตว์ สุรา ดอกไม้ธูปเทียน ให้พร้อมก่อนรุ่งเช้าวันประกอบพิธี ฝ่ายพิธีการ ผู้รับผิดชอบจะต้องนำกรวยดอกไม้ธูปเทียน ไปบอกกล่าวให้ผู้ที่จะประกอบพิธีบวงสรวงหรือที่ชาวบ้านเรียกว่า "ปู่จ๋าน" ทราบก่อนกำหนดวันประกอบพิธี
พอเช้าตรู่ วันแรม 9 ค่ำ เดือน 9 แก่ฝายพร้อมด้วยสมาชิกที่ได้รับมอบหมายให้จัดทำเครื่องบวงสรวง จะต้องไปถึงจุดนัดหมายก่อนเพื่อจัดการฆ่าสัตว์ที่จะนำไปเซ่นไหว้ หลังจากชำแหละแล้วก็จะช่วยกันปรุงอาหาร ทำเป็น 4 ประเภท คือ ทำแกงหนึ่งอย่าง ชาวบ้านเรียกว่า “แกงอ่อม” และทำลาบดิบอีกหนึ่งอย่าง ส่วนที่เหลือก็จะเซ่นไหว้เป็นเนื้อสดทำเหมือนกันทั้ง 3 ชนิด ก่อนพระอาทิตย์ขึ้น
เครื่องสำหรับสังเวยบูชาเทียน 4 เล่ม ดอกไม้ 4 สวย (กรวย) พลู 4 สวย หมาก ขดหรือก้อม 4 ก้อม (1 ขดเอามาตัดครึ่งเท่ากับ 1 เมตร ) ช่อขาว (ธง) 4 ผืน มะพร้าว 2 แขนง กล้วย 2 หวี อ้อย 2 ลำ หม้อใหม่ 1 ใบ แกงส้ม แกงหวาน หัวหมู ไก่ต้ม สุรา และโภชนาการ 7 อย่าง รวมทั้งเมี่ยงและบุหรี่
เครื่องสังเวยผีขุนน้ำจากความร่วมมือชาวบ้าน
ขั้นตอนการประกอบพิธี
พ่อหนานคำจันทร์ สายปั่น (ปู่จ๋าน) จะขึ้นเท้าทั้งสี่ หรือภาษาพื้นบ้านที่ชาวบ้านเรียกว่า “เต๊าตังสี่” ประกอบด้วยสะตวง จำนวน 6 อัน สะตวงทำด้วยกาบกล้วย ตัดยาวประมาณ 4 นิ้ว ทำเสาปักตรงกลาง สูงพอประมาณ สามารถที่จะวางกระทงเย็บเหลี่ยมทำด้วยใบตอง แล้วปักลงพื้นดิน ในกระทงใส่ข้าวปลาอาหาร หมูหรือไก่ แกงส้มแกงหวาน มะเฟือง มะแวง ปักจ้อ (ธงเล็ก) สีขาวทั้ง 4 อัน สะตวงสุดท้าย เรียกว่า หอพระอินทร์ มีสัญลักษณ์คือ ปักด้วยฉัตรทรงกลมสีเขียวในกระทงใส่ข้าวเหนียวปั้นเป็นลูกกลม ๆ พร้อมด้วยกล้วยสุก 1 ลูก
สะตวงสำหรับอัญเชิญเทพทั้งสี่ คือ เทวดาที่รักษาน้ำ รักษาป่า รักษาดินแดนและอากาศ ให้มารับรู้ถึงการประกอบพิธีของชาวบ้าน เมื่อทำพิธีเท้าทั้งสี่แล้ว ปู่จ๋านก็จะให้ “แก่ฝาย” นำเครื่องเซ่นไหว้ ประกอบด้วย เนื้อสัตว์ทั้งสุกและดิบ สุรา 2 ขวด ขึ้นไปวางไว้บนแคร่ที่จัดทำไว้ ปู่จ๋านจะจุดเทียน 2 เล่ม ซ้าย-ขวา จุดธูปหนึ่งกำมือ แจกจ่ายให้ผู้ร่วมพิธีนำมาปักไว้ตรงกลางระหว่างเทียนทั้งสองเล่ม
การปักเทียนและธูปทั้ง 3 จุดนี้ หมายถึงให้เคารพและระลึกถึงคุณของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เมื่อจุดเทียนธูปแล้ว ปู่จ๋านจะกล่าวคำอัญเชิญเทวดาเพื่อให้มาชุมนุมรับเครื่องเซ่นไหว้ของชาวบ้าน เมื่อจบแล้วจะกล่าวคำแผ่เมตตาเป็นการเสร็จพิธีกรรม
• จุดมุ่งหมายในการเลี้ยงผีขุนน้ำ
จุดมุ่งหมายในการเลี้ยงผีขุนน้ำ เพื่อให้เกิดความสามัคคีซึ่งกันและกัน เช่น มีการประชุมตกลงกันก่อนจึงจะมีพิธีการเลี้ยง และเป็นการแสดงออกซึ่งความเสียสละประโยชน์ส่วนน้อยของตน เพื่อประโยชน์อันยิ่งใหญ่ของส่วนรวม เช่น มีการเรี่ยไรเงินทองกันคนละนิดละหน่อย รวมถึงเพื่อแสดงความกตัญญูต่อสิ่งที่ให้คุณและให้ประโยชน์แก่ตนเอง เช่นเดียวกับการเลี้ยงผีขุนน้ำ ก็เพื่อต้องการแสดงความกตัญญูต่อธรรมชาติที่อำนวยความอุดมสมบูรณ์ให้กับมนุษย์ และมองเห็นความสำคัญของธรรมชาติที่มีต่อมนุษย์
ชาวบ้านแย่งเก็บเครื่องสังเวยเพื่อความเป็นสิริมงคลหลังเสร็จพิธีกรรม
ประเพณีเลี้ยงผีขุนน้ำเป็นกุศโลบายที่มุ่งสอนให้คนในชุมชนอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข มีความรัก ความสามัคคี รู้จักแบ่งปัน และที่สำคัญคือ ให้มีความกตัญญูรู้คุณของแม่น้ำที่หล่อเลี้ยงชีวิตของผู้คนในชุมชน ชี้ให้เห็นว่าพิธีกรรมของชาวไตลื้อบ้านธิ ที่สืบทอดมาจากบรรพชนของคนไทยกลุ่มหนึ่งในแผ่นดินสิบสองปันนา ได้ถือปฏิบัติสืบต่อกันมาเป็นเวลายาวนานหลายศตวรรษ เป็นร่องรอยประวัติศาสตร์ที่แสดงออกถึงจารีตประเพณี วิถีชีวิตความเป็นอยู่ที่เกี่ยวข้องระหว่างคนกับน้ำ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เรามักจะพบเห็นพิธีกรรมดังกล่าวในหลายชุมชนของคนล้านนา เฉกเช่นเดียวกับ ประเพณีเลี้ยงผีขุนน้ำของชาวตำบลบ้านธิ ที่บ้านดอยเวียง ถึงแม้ว่าการประกอบพิธีกรรมอาจจะผิดแผกแตกต่างกันไปบ้าง แต่ก็เชื่อได้แน่ว่าจุดประสงค์หรือเป้าหมายน่าจะอยู่บนพื้นฐานความเชื่อเดียวกัน
ข้อมูลเนื้อหา โดย นายวิเชียร ปัญญาใหญ่ ประธานสภาวัฒนธรรมตำบลบ้านธิ
ที่ทำการ : บ้านเลขที่ 27/1 หมู่ที่ 14 ตำบลบ้านธิ อำเภอบ้านธิ จังหวัดลำพูน
เรียบเรียงเนื้อหา โดย นางวิไลวรรณ อุ๋ยสกุล
ภาพถ่าย/ภาพประกอบ โดย นางสาวกานต์ชนก แก้วทิพย์
Post a Comment