TKP HEADLINE

กศน.มิติใหม่ ประมวลการเรียนรู้ตามอัธยาศัยด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลส่งต่ออนาคต


ดร.วิเลขา ลีสุวรรณ์ รองเลขาธิการ สำนักงาน กศน. เปิดเผยถึงการปรับตัวในศตวรรษที่ ๒๑ ซึ่งเทคโนโลยีดิจิทัลเป็นกลไกในการขับเคลื่อนการทำงาน และเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตในยุคปัจจุบัน ส่งผลให้คนในยุคดิจิทัลจำเป็นต้องมีทักษะความรู้ที่ถูกต้อง ขณะเดียวกันในโลกออนไลน์มักพบข้อมูลที่ไม่ได้ถูกตรวจสอบ กลั่นกรองและมีจำนวนมากที่เป็นข้อมูลเท็จ ซึ่งนับเป็นอุปสรรคในการเรียนรู้ ตลอดจนสร้างค่านิยมและความเชื่อที่ไม่ถูกต้องให้แก่บุคคลในยุคดิจิทัล ดังนั้น สำนักงาน กศน. ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ ส่งเสริม สนับสนุน การจัดการศึกษาตามอัธยาศัย จึงตระหนักและเล็งเห็นถึงความจำเป็นของการนำเสนอข้อมูลที่เป็นจริง มีการกลั่นกรองความถูกต้อง และเป็นประโยชน์ต่อสังคม เพื่อให้ประชาชนได้รับความรู้จากองค์ความรู้ต่างๆ อย่างสร้างสรรค์ จากเหตุผลข้างต้น สำนักงาน กศน. โดยสถาบันการศึกษาทางไกล ได้มีแนวคิดที่จะนำเทคโนโลยีดิจิทัลไปใช้เพื่อการจัดความรู้ โดยนำร่องที่สำนักงาน กศน.จังหวัดน่าน หรือที่เรียกว่า “เมืองน่าน โมเดล” จากผลการนำร่องครั้งนี้ ก่อให้เกิดการพัฒนาต่อเนื่อง ๔ เรื่องสำคัญ คือ
๑) การจัดการความรู้ของชุมชน ในด้านต่างๆ ได้แก่ อาชีพชุมชน วัฒนธรรมท้องถิ่น ท่องเที่ยวชุมชน ภูมิปัญญาท้องถิ่น แหล่งการเรียนรู้ เทคโนโลยีชาวบ้าน อาหารท้องถิ่น ซึ่งถือว่าเป็นองค์ความรู้และภูมิปัญญาของไทยที่ถูกถ่ายทอดอย่างไม่เป็นทางการ
๒) การรวบรวมองค์ความรู้ตามโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ เพื่อเป็นแบบอย่างในการเรียนรู้ของประชาชน
๓) การนำ Application ของ Google ที่สามารถพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางรวบรวมจัดหมวดหมู่ข้อมูลสารสนเทศที่เป็นประโยชน์จากแหล่งต่างๆเข้าไว้ด้วยกันอย่างเป็นระบบและง่ายต่อการเข้าถึง (Portal Web) ซึ่งทำให้บุคคลทุกคนสามารถเข้าถึงความรู้ผ่านสมาร์ทโฟน ได้ทุกเวลา ทุกสถานที่ ตามความต้องการ
๔) กระบวนการจัดการความรู้โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัล สามารถนำไปประยุกต์ใช้เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว การประกอบอาชีพ การศึกษา และวัฒนธรรม เพื่อการสร้างมูลค่าเพิ่มตามนโยบายของรัฐบาล อีกทั้งยังเชื่อมโยงองค์ความรู้จากปราชญ์ชาวบ้านที่กำลังจะสูญหายสู่ลูกหลานของไทยในอนาคต
ดร.วิเลขา กล่าวเพิ่มเติมว่า จากแนวคิดดังกล่าวเชื่อมั่นว่าจะสามารถนำไปสู่การขยายผลเพื่อสร้าง “คลังความรู้ของประเทศไทย” (Thailand Knowledge Portal : TKP) โดยใช้ชุมชนเป็นฐานในการจัดการความรู้ผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล ที่สามารถเชื่อมโยงและผสมผสานการศึกษากับวิถีชีวิตเข้าด้วยกัน นับเป็นรูปแบบการจัดการศึกษาตามอัธยาศัยในมิติใหม่ของ สำนักงาน กศน. ที่สอดคล้องกับนโยบายการปฏิรูปการศึกษาในศตวรรษที่ ๒๑ ตอบสนองนโยบาย“นิยมไทย ไทยยั่งยืน” โดยใช้ “เน็ตประชารัฐ” รวมทั้งการเปลี่ยนระบบการศึกษาโดยใช้ชุมชนเป็นฐานอย่างแท้จริง ซึ่งตนขอชื่นชมและขอบคุณคณะทำงานทุกคนที่ส่วนหนึ่งเป็นข้าราชการบำนาญที่มีใจรักและอุทิศเวลาเพื่องาน กศน. และสิ่งที่อยากฝากแก่ชาว กศน.และชาวสถาบันการศึกษาทางไกล คือ การประชาสัมพันธ์ เพื่อให้ หน่วยงาน/สถานศึกษา/เครือข่าย รู้จัก กศน.ในบทบาทนี้มากยิ่งขึ้น

อ้างอิง
http://thainews.prd.go.th/website_th/news/print_news/WNSOC6104020010060

Share this:

Post a Comment

ข้อคิดเห็นจากเครือข่าย TKP

 
Copyright © 2018 Thailand Knowledge Portal. Designed by OddThemes > Developed by mediathailand