TKP HEADLINE

รำวง 3 ส. สืบสานวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่น แบ่งปันรอยยิ้มและความสุข

“รำวง” เป็นศิลปะการละเล่นดนตรีและนาฏศิลป์ ที่อยู่คู่กับคนไทยมาอย่างยาวนาน มีวัฒนธรรมมาจาก “รำโทน” เป็นการรำและร้องของชาวบ้าน จะมีผู้รำทั้งชายหญิง รำกันเป็นคู่รอบครกตำข้าวที่วางคว่ำไว้ หรือรำกันเป็นวงกลม โดยมีโทนเป็นเครื่องดนตรีประกอบจังหวะ ลักษณะการรำและร้องเป็นไปตามความถนัด ไม่มีแบบแผนกำหนดไว้ มุ่งเน้นที่ความสนุกสนานรื่นเริงเป็นสำคัญ ซึ่งสามารถพบเห็นได้ทั่วไปในทุกภาคของประเทศไทย และมีรูปแบบท่ารำแตกต่างกันไปตามแบบฉบับของท้องถิ่นนั้น ๆ เป็นศิลปะที่สะท้อนความเป็นตัวตนของผู้คนในแต่ละท้องถิ่น ทั้งการแต่งกาย ความชื่นชอบแนวดนตรีหรือบทเพลง รวมไปถึงท่วงท่าในการร่ายรำ ถือเป็นเอกลักษณ์ และเสน่ห์ ของชาวไทย ที่สร้างความประทับใจให้กับชาวต่างชาติได้ไม่น้อย


อำเภอขาณุวรลักษบุรี ตั้งอยู่บริเวณทางใต้ลุ่มแม่น้ำปิง เป็นชุมชนโบราณ เดิมเรียกว่า เมืองแสนตอ สันนิษฐานว่าเป็นเมืองโบราณรุ่นเดียวกับเมืองเทพนคร เมืองไตรตรึงษ์ เมืองพาน เมืองคณฑี เมืองนครชุม และเมืองชากังราว มีประวัติความเป็นมาที่ยาวนาน มีบันทึกในพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐว่า เมื่อ พ.ศ. 2102 สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ แห่งกรุงศรีอยุธยา ได้เสด็จมาคล้องช้าง ณ เมืองแสนตอ ซึ่งขึ้นกับเมืองกำแพงเพชรได้ช้างถึง 40 เชือก

ชุมชนเก่าแก่ของอำเภอขาณุวรลักษบุรี คือ ชุมชนเขากะล่อน บริเวณบ้านป่าพุทรา เป็นชุมชนในยุคหินใหม่มีอายุประมาณ 5,000-10,000 ปี  จากการสำรวจของมหาวิทยาลัยศิลปากร เมื่อปีพุทธศักราช 2530 พบโบราณวัตถุเป็นจำนวนมาก อาทิ ขวานหินขัด หัวธนู กำไล ลูกปัด เศษภาชนะดินเผา จากหลักฐานดังกล่าวยืนยันได้ว่าชุมชนเมืองแสนตอเป็นเมืองเก่าแก่ก่อนประวัติศาสตร์ของจังหวัดกำแพงเพชร  

แต่เดิมอำเภอขาณุวรลักษบุรีมีฐานะเป็นกิ่งอำเภอ แยกจากอำเภอคลองขลุง มีชื่อว่า “กิ่งอำเภอแสนตอ” ที่ว่าการกิ่งอำเภอแสนตอ เดิมตั้งอยู่บริเวณริมแม่น้ำปิง (หน้าโรงเรียนวัดน้อยวรลักษณ์ในปัจจุบัน) เนื่องจากถูกน้ำกัดเซาะจึงย้ายมาตั้งในสถานที่ปัจจุบัน มีพื้นที่เชื่อมต่อกับจังหวัดนครสวรรค์

ความหมายของรำวง 3 ส.
อำเภอขาณุวลักษบุรี จึงเป็นหนึ่งในเมืองเก่าของจังหวัดกำแพงเพชร ลูกหลานยังคงสืบทอดวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามของคนพื้นถิ่นมาอย่างยาวนาน และมีการพัฒนาปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย ผู้เขียนขอกล่าวถึงด้านศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี ของชาวอำเภอขาณุวรณี ที่สะท้อนถึงค่านิยม ประเพณี วิถีชุมชน ที่สำคัญคือ เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความสุข ความรักสามัคคีของชาวขาณุวรลักษบุรี  กลุ่ม “รำวง 3 ส.” เป็นการรวมตัวกันของคนที่มีความชอบด้านดนตรี เสียงเพลง และการดูแลสุขภาพตนเอง โดยกลุ่มได้นำรูปแบบการรำวงมาเป็นกิจกรรมในการรวมตัวของกลุ่ม และได้พัฒนาท่วงท่าการรำวงให้เป็นแบบฉบับของกลุ่ม เน้นความสนุกสนาน  กลุ่มได้ให้ความหมาย ของ 3 ส. ประกอบด้วย 
ส.ที่ 1 สนุก 
ส.ที่ 2 สุขภาพดี 
ส.ที่ 3 สามัคคี
รวมเป็น รำสนุก-สุขภาพดี-สามัคคีเกิด จึงใช้ชื่อกลุ่มว่า รำวง 3 ส. มาตลอด ถึงปัจจุบันเป็นเวลา 6 ปีแล้ว




กิจกรรมรำวง 3 ส. ภาพโดย นางสาววณิชา อินทรศักดิ์ (2565)

กลุ่มรำวง 3 ส. มีนางกาญจนา ปั๋นแก้ว เป็นประธานกลุ่ม ปัจจุบันมีสมาชิกรวม 30 คน ในทุกวัน หากสมาชิกไม่ติดภารกิจ หรือไม่มีฝนตก ก็จะมารวมตัวกันช่วงเวลา 18.00-19.30 น. ณ ลานริมปิง เพื่อมารำวง ออกแบบท่ารำใหม่ ๆ ให้เข้ากับจังหวะเพลงที่สนุกสนาน จึงทำให้มีท่ารำที่แปลกใหม่ สวยงาม พร้อมเพรียงกัน สะกดสายตาผู้ชมทุกครั้งที่ทำการแสดง ทำให้การรำวงไม่ใช่เรื่องน่าเบื่อล้าสมัยอีกต่อไป ผู้คนเริ่มให้ความสนใจ และเข้าร่วมเป็นสมาชิกมากขึ้น เป็นที่ยอมรับ และชื่นชอบ ที่กลุ่มทำกิจกรรมสร้างสรรค์เป็นแบบอย่างที่ดีให้กับลูกหลาน เยาวชน และประชาชนทั่วไป ทั้งยังช่วยส่งเสริมและสืบสานประเพณีท้องถิ่นให้เป็นที่รู้จักของคนทั่วไป ทั้งในและนอกพื้นที่ เนื่องจากเมื่อมีกิจกรรมหรือวันสำคัญต่าง ๆ กลุ่มจะเข้าร่วมแสดงรำวงอยู่เสมอ ได้สร้างสีสันและรอยยิ้ม สร้างความประทับใจให้กับผู้พบเห็น ทำให้การรำวงที่มีมายาวนานยังคงเป็นวัฒนธรรมที่ชาวขาณุวลักษบุรีได้สืบสานมาจนถึงปัจจุบัน “รำวง 3 ส." จึงเป็นตัวแทนที่สะท้อนถึงศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณีท้องถิ่น ของอำเภอขาณุวรลักษบุรี จังหวัดกำแพงเพชร ได้เป็นอย่างดี

รำวง 3 ส. ได้รับการสนับสนุนจากเทศบาลอำเภอขาณุวรลักษบุรี กศน.อำเภอ ขาณุวรลักษบุรี รวมทั้งหน่วยงานอื่นในระดับพื้นที่ ช่วยส่งเสริมสนับสนุนให้กลุ่มเป็นตัวแทนในการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม ร่วมแสดงรำวงในชุดสีสันสดใสในงานประเพณีสำคัญต่าง ๆ เช่นประเพณีวันลอยกระทง งานสารทไทยกล้วยไข่ งานปีใหม่ ตรุษจีน เป็นต้น รวมทั้งได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการรำวงกับอำเภอใกล้เคียงและจังหวัดอื่น สมาชิกทุกคนมีความสุขทุกครั้งที่ได้ร่วมแสดงการรำวง มีความภาคภูมิใจ ที่เป็นส่วนหนึ่งในการร่วมสืบสานศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณีท้องถิ่น



ภาพโดย นางสาววณิชา อินทรศักดิ์ (2565)

จุดเด่น และเอกลักษณ์ของกลุ่ม คือรอยยิ้ม ความสนุก ความสดใสที่มีในตัวของสมาชิกทุกคน ซึ่งสอดคล้องกับความหมายของกลุ่ม รำสนุก-สุขภาพดี-สามัคคีเกิด รวมถึงชุดที่ใช้ในการแสดงแต่ละครั้ง สมาชิกกลุ่มจะให้ความสำคัญในการร่วมคิด ร่วมตัดสินใจเลือกแบบที่เน้นความสดใส และเหมาะสมในแต่ละกิจกรรม

หากมีผู้สนใจสามารถแวะเวียนมาชมการรำวงของกลุ่มได้ทุกวัน หรือต้องการมาเรียนรู้ฝึกการรำวง  กลุ่มก็ยินดีแบ่งปันถ่ายทอดศิลปะการรำวงให้กับผู้ที่สนใจ เพื่อให้ รำวง 3 ส. คงอยู่ในใจของลูกหลาน ประชาชนชาวอำเภอขาณุวรลักษบุรี และเป็นที่รู้จักของคนทั่วไป

ภาพโดย นางสาววณิชา อินทรศักดิ์ (2565)

ข้อมูลเนื้อหา โดย  นางสาววณิชา  อินทรศักดิ์ สมาชิกกลุ่ม รำวง 3 ส.

เขียน/เรียบเรียง โดย
   นางธัญมล โอมณีเขียว  ตำแหน่ง ครูผู้ช่วย กศน.อำเภอขาณุวรลักษบุรี 
จังหวัดกำแพงเพชร

ภาพถ่าย/
  โดย นางสาววณิชา  อินทรศักดิ์

อ้างอิง 
KRURAVIWUN. ประวัติความเป็นมารำวงมาตรฐาน. สืบค้นเมื่อ 02 มีนาคม 2565 จากhttps://sites.google.com/a/bualai.ac.th/kruraviwan/prawati-khwam-pen-ma-rawng-matrthan 

ฐานข้อมูลท้องถิ่นกำแพงเพชร-ตาก. ประวัติอำเภอขาณุวรลักษบุรี. สืบค้นเมื่อ  02 มีนาคม 2565 จาก https://arit.kpru.ac.th/ap2/local/?nu=pages&page_id=3&code_db=610001&code_type=06






Share this:

Post a Comment

ข้อคิดเห็นจากเครือข่าย TKP

 
Copyright © 2018 Thailand Knowledge Portal. Designed by OddThemes > Developed by mediathailand