TKP HEADLINE

แหล่งท่องเที่ยวชุมชน พระจุฑาธุชราชฐาน

แหล่งท่องเที่ยวชุมชน พระจุฑาธุชราชฐาน จังหวัดชลบุรี

    พระจุฑาธุชราชฐาน ปัจจุบันเป็นแหล่งท่องเที่ยวชุมชนตำบลท่าเทววงษ์ อำเภอเกาะสีชัง จังหวัดชลบุรี เมื่อครั้งในอดีตเคยเป็นที่ประทับแปรพระราชฐานของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระราชวงศ์ หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า พระราชวังฤดูร้อน ถูกสร้างขี้นในสมัยรัชกาลที่ 5 และเป็นพระราชวังแห่งเดียวในประเทศไทยที่อยู่บนเกาะ ในปีพุทธศักราช 2431 เกาะสีชังได้เป็นที่ประทับของสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรีและสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ เนื่องจากทรงพระประชวร และคณะแพทย์ได้ถวายความเห็นว่าควรเสด็จแปรพระราชฐานไปประทับอยู่ในที่จะได้อากาศจากชายทะเล ในเวลาต่อมาสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินมาประทับแรมด้วยและได้เสด็จพระราชดำเนินมาประทับที่เกาะสีชังอีกบ่อยครั้ง ในระยะแรกได้มีพระราชดำริและโปรดเกล้าฯ ให้สร้างตึกขึ้นจำนวน 3 หลัง เพื่อใช้เป็นสถานที่สำหรับให้ผู้ป่วยมาพักฟื้นรักษาตัว ได้แก่ หลังที่ตั้งอยู่ริมหาดทรายพระราชทานนามว่า เรือนวัฒนา ส่วนตึกกลมพระราชทานนามว่า เรือนผ่องศรี และตึกยาวพระราชทานนามว่า เรือนอภิรมย์ ซึ่งตั้งตามพระนามของ สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี พระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระวรราชเทวี และพระนางเจ้าสายสวลีภิรมย์ 



    หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินยังเกาะสีชังอยู่บ่อยครั้ง จึงมีพระราชดำริให้ก่อสร้างสถานที่ต่าง ๆ เพื่อเป็นการบำรุงเกาะสีชังให้เป็นที่เจริญยิ่งขึ้นและโปรดเกล้าฯ ให้สร้างสะพานใหญ่ที่ทำด้วยไม้ทาสีเสาก่อศิลาโบกปูนซีเมนต์ยาวตั้งแต่ชายหาดลงไปจนถึงน้ำและมีบันไดลงน้ำ เนื่องจากเกาะสีชังในเวลานั้นยังไม่มีท่าเทียบเรือเวลาน้ำลงแห้งเรือไม่สามารถเข้าออกบริเวณหาดทรายได้ผู้คนต้องเดินลุยน้ำลำบากบ้างก็ถูกหอยบาดเป็นแผลทำให้บาดเจ็บเป็นจำนวนมากและได้พระราชทานนามว่า สะพานอัษฎางค์ เมื่อปีพุทธศักราช 2434 ซึ่งตั้งตามพระนามของสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าอัษฎางเดชาวุธฯ หรือเรียกอีกชื่อว่า สะพานแห่งรัก


    ต่อมาในปีพุทธศักราช 2434 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายศาลเจ้า ซึ่งเป็นศาลเทพารักษ์ประจำเกาะสีชังและเป็นสถานที่ที่ชาวเกาะสีชังนับถือสักการะบูชาไปสร้างศาลขึ้นมาใหม่แทนศาลเดิมบนไหล่เขามีช่อฟ้าใบระกา พระราชทานนามว่า ศาลศรีชโลธรเทพ และมีต้นมะขามตั้งอยู่ด้านหน้าพระราชทานนามต้นมะขามนี้ว่า ต้นหัตถวิจารณ์ โดยสันนิฐานว่าตั้งตามนามของพระหัตถวิจารณ์จำนงค์ นายช่างตรวจการในการก่อสร้างพระราชฐานในครั้งนั้น เวลาต่อมาได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชฐานที่ประกอบด้วยพระที่นั่ง 4 องค์ ได้แก่ พระที่นั่งโกสีย์วสุภัณฑ์ พระที่นั่งมันธาตุรัตนโรจน์ พระที่นั่งโชติรสประภาต์ พระที่นั่งเมขลามณี  และพระตำหนักอื่น ๆ อีก 14 หลัง เช่น พระตำหนักวาสุกรีก่องเก็จ พระตำหนักเพ็ชร์ระยับ พระตำหนักทับทิมสด พระตำหนักมรกฎสุทธ์ ซึ่งพระตำหนังมรกฎสุทธ์นี้เป็นที่ประสูติของสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก ซึ่งในปัจจุบันพระที่นั่งและพระตำหนักเหล่านี้ไม่มีอยู่แล้ว ส่วนอาคารที่ยังคงปรากฏให้เห็นในปัจจุบัน ได้แก่ ตึกวัฒนา ตึกผ่องศรี ตึกอภิรมย์ เรือนไม้พักผ่อนริมทะเล ศาลศรีชโลธรเทพ รวมทั้งอัษฎางค์ประภาคารบนแหลมวังซึ่งตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะสีชัง สะพานอัษฎางค์และพระอุโบสถวัดอัษฎางคนิมิตร

    นอกจากนี้ในเขตพระราชฐานยังมีการขุดสร้างบ่อ สระ และธารน้ำ รวมทั้งบันไดและทางเดินเท้าขึ้นเป็นจำนวนมาก ซึ่งได้พระราชทานนามของสถานที่ต่าง ๆ เช่น บ่ออัษฎางค์ บ่อเชิญสรวล บ่อชวนดู บ่อชูจิตร บ่อพิศเพลิน บ่อเจริญใจ ฯลฯ หรือสระเทพนันทา สระมหาอโนดาตต์  สระประพาสชลธาร บันไดเนรคันถี บันไดรีฟันม้า บันไดผาเยปนูน บันไดมูนสโตนหนา บันไดศิลาทอง บันไดผองผลึก ฯลฯ เป็นต้น

    ในส่วนของเรือนไม้ริมทะเลนั้น พบว่า ถูกสร้างขึ้นในสมัยรัชการที่ 5 แต่ไม่ปรากฏหลักฐานที่ชัดเจนว่าสร้างในปีใด สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นเรือนพักตากอากาศของชาวต่างประเทศมาก่อน ต่อมาได้มีการปรับปรุงเป็นที่ประทับแรมของพระราชวงศ์ในคราวเสด็จมารักษาพระองค์ก่อนที่จะมีการสร้างพระจุฑาธุชราชฐานในปีพุทธศักราช 2435 ซึ่งในปัจจุบันเป็นสำนักงานส่วนบริการนักท่องเที่ยวและเป็นสถานที่จัดนิทรรศการให้ความรู้เกี่ยวกับพระราชฐานในเกาะสีชัง

 
    ถัดจากเรือนไม้ริมทะเลหากหันหน้าไปทางทะเลฝั่งซ้ายมือจะเป็นฐานพระที่นั่งมันธาตุรัตนโรจน์ ซึ่งปัจจุบันเหลือเพียงฐานเท่านั้น เนื่องจากได้หยุดการก่อสร้างในช่วงที่เกิดวิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2443 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้าฯ ให้รื้อถอนพระที่นั่งมันธาตุรัตนโรจน์กลับไปสร้างที่พระราชวังสวนดุสิต เมื่อสร้างเสร็จจึงได้พระราชทานนามว่า “พระที่นั่งวิมานเมฆ”ต่อมาเป็นตึกวัฒนาหรือเรือนวัฒนา จะอยู่ด้านข้างเรือนไม้ริมทะเล หากหันหน้าไปทางทะเลจะอยู่ด้านขวามือในสมัยนั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเป็นอาไศรย์สฐาน เพื่อเป็นที่พักฟื้นสำหรับชาวไทยและชาวต่างประเทศ แล้วเสร็จเมื่อปีพุทธศักราช 2432 และพระราชทานนามตามพระนามของสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี (พระยศในขณะนั้น) ซึ่งทรงบริจาคทรัพย์จัดซื้อเครื่องตกแต่งภายในเรือน ต่อมาใช้เป็นเรือนประทับพระราชวงศ์ ก่อนที่จะมีการสร้างพระจุฑาธุชราชฐานในปีพุทธศักราช 2435 หากหันหน้าไปทางทะเลจะอยู่ฝั่งขวามือของเรือนไม้ริมทะเล ปัจจุบันเป็นสถานที่ จัดแสดงนิทรรศการเหตุการณ์สำคัญต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในเกาะสีชังสมัยรัชการที่ 5

  
    เมื่อเดินจากเรือนวัฒนาขึ้นบันไดไปตามไหล่เขาจะเจอตึกทรงกลมเรียกว่า เรือนผ่องศรี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเป็นอาไศรย์สฐานเพื่อเป็นที่พักฟื้นสำหรับชาวไทยและชาวต่างประเทศเช่นเดียวกับเรือนวัฒนา แล้วเสร็จเมื่อปีพุทธศักราช 2432 และพระราชทานนามตามพระนามของพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระวรราชเทวี (พระยศ ในขณะนั้น) ซึ่งทรงบริจาคทรัพย์จัดซื้อเครื่องตกแต่งภายในเรือน ต่อมาใช้เป็นเรือนประทับพระราชวงศ์ก่อนที่จะมีการสร้างพระจุฑาธุชราชฐานในปีพุทธศักราช 2435 ปัจจุบันเป็นสถานที่จัดแสดงนิทรรศการพระราชประวัติและประวัติบุคคลผู้มีบทบาทสำคัญเกี่ยวกับเกาะสีชังในอดีต และเมื่อเดินขึ้นไปตามทางจะเจอกับเรือนอภิรมย์ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเป็นสถานที่พักฟื้นเช่นเดียวกับเรือนวัฒนาและเรือนผ่องศรี โดยได้มีการตั้งชื่อเรือนตามพระนามของพระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ พระอรรคชายาเธอ (พระยศในขณะนั้น) ปัจจุบันใช้เป็นสถานที่จัดแสดงนิทรรศการสิ่งปลูกสร้างในสมัยรัชกาลที่ 5

    

    ในเขตพระจุฑาธุชราชฐานเมื่อเดินตามทางขึ้นไปบนเนินเขาจะมีสถานที่สำคัญอีกหลายแห่ง หนึ่งในนั้นคือพระเจดีย์อุโบสถวัดอัษฎางคนิมิต ซึ่งเป็นสถานที่สำคัญอีกแห่งในพระจุฑาธุชราชฐาน วัดแห่งนี้ถูกสร้างขึ้นเมื่อปีพุทธศักราช 2435 แทนวัดปลายแหลมที่มีมาแต่เดิม ตัวพระอุโบสถเป็นอาคารรูปกลมมีเจดีย์ทรงลังกาซ้อนอยู่ด้านบน มีลักษณะการประดับตกแต่งตามศิลปะแบบโกธิก กล่าวคือ มีประตูและหน้าต่างเป็นรูปโค้งยอดแหลม ช่องแสงประดับด้วยกระจกสีเป็นลวดลายสวยงาม และสถานที่สำคัญอีกแห่งหนึ่ง เมื่อใครมาที่เกาะสีชังต้องเดินทางมาสักการะเพื่อความเป็นสิริมงคลให้กับตัวเอง คือ พระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 

    
    ในปีพุทธศักราช 2435 ได้เกิดวิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 หรือเกิดความขัดแย้งระหว่างสาธารณรัฐฝรั่งเศสและราชอาณาจักรไทย ซึ่งมีกองทหารบุกขึ้นเกาะสีชังและปิดอ่าวไทยจึงได้ยุติการสร้างพระที่นั่งและตำหนักต่าง ๆ ลง โปรดเกล้าฯ ให้รื้อถอนสิ่งก่อสร้างไปสร้างในที่อื่น นับแต่นั้นเป็นต้นมาพระจุฑาธุชราชฐานจึงถูกยกเลิกการเป็นพระราชวังบนเกาะ ต่อมาในปีพุทธศักราช 2521 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้รับมอบสิทธิการใช้ที่ดินจากกรมธนารักษ์ จัดตั้งเป็นสถานีวิจัยวิทยาศาสตร์ทางทะเลและเป็นศูนย์ฝึกนิสิต รวมถึงได้เข้ามาดูแลโบราณสถานและโบราณวัตถุในเขตที่ดินประมาณ 5 ไร่ ซึ่งปัจจุบันสถานีวิจัยอยู่ในความรับผิดชอบของสถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำและพระราชฐานพื้นที่ประมาณ 219 ไร่ อยู่ในความดูแลของสำนักบริหารงานศิลปวัฒนธรรม พื้นที่ในส่วนนี้ได้มีการดำเนินการปรับปรุงร่วมกับกรมศิลปากรเมื่อปีพุทธศักราช 2533 ได้มีการซ่อมแซมอาคารต่าง ๆ ที่ยังคงเหลืออยู่ จำนวน 5 หลัง ประกอบด้วย เรือนไม้ริมทะเล ตึกผ่องศรีตึกอภิรมย์ ตึกวัฒนา  และพระอุโบสถ 
    ปัจจุบันการเดินทางเข้าสู่เขตพระจุฑาธุชราชฐานด้านซ้ายมือจะเป็นสถานีวิจัยวิทยาศาสตร์ทางทะเลด้านขวามือจะเป็นพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำชลทัศนสถาน เมื่อเข้ามาข้างในด้านขวามือจะเป็นศาลศรีชโลธรเทพและต้นหัตถวิจารณ์ ด้านซ้ายมือเป็นแนวชายหาดหินสลับกับหาดทรายเลียบทะเลมองเห็นสะพานอัษฎางค์ ทางเข้าพระจุฑาธุชราชฐานจะเห็นต้นมะขามและต้นลีลาวดีล้อมรอบบริเวณ หากเดินตามแนวชายหาดไปถึงแหลมวังจะเป็นที่ตั้งของอัษฎางค์ประภาคาร เมื่อเดินอ้อมแหลมแล้ววกกลับขึ้นมาพบกับชายหาดอีกด้านหนึ่งซึ่งเป็นบริเวณที่ตั้งของพระที่นั่งมันธาตุรัตนโรจน์ ปัจจุบันเหลือเพียงส่วนของฐานเท่านั้น ถัดขึ้นมาเป็นเรือนไม้ริมทะเล มักเรียกกันว่า เรือนเขียว ตามสีของอาคาร ถัดจากเรือนเขียวเป็นเรือนวัฒนา เชิงเขาทางด้านล่างหลังเรือนวัฒนาจะมีศาลาซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเมื่อออกจากเรือนวัฒนาเลียบไปตามถนนริมทะเลขึ้นไปตามไหล่เขาจะเห็นเรือนผ่องศรี ส่วนเรือนยาวชั้นเดียวใกล้ ๆ กันนั้น คือ เรือนอภิรมย์หากเดินตามทางขึ้นเนินเขาไปด้านหลังเรือนผ่องศรีจะเป็นวัดอัษฎางคนิมิตร ส่วนด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือของวัดจะเจอกับเจดีย์เก่าแก่อายุหลายร้อยปี เรียกว่า เจดีย์เหลี่ยม อยู่บนเนินหิน อีกทางด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ของวัดจะมีทางเดินไปยังศูนย์บริการข้อมูลนักท่องเที่ยว ซึ่งเป็นจุดสิ้นสุดเขตพระราชฐานและระหว่างทางด้านขวามือมีจุดชมวิวเนินเขาน้อยเป็นจุดที่สามารถชมทิวทัศน์ในระยะไกลของเกาะสีชัง

    ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอเกาะสีชัง ได้มีการจัดทำหลักสูตรภาษาอังกฤษสำหรับอาชีพมัคคุเทศก์ขึ้น และได้นำมัคคุเทศก์ของพระจุฑาธุชราชฐานมาเป็นวิทยากรให้ความรู้ในโครงการภาษาต่างประเทศเพื่อการสื่อสารด้านอาชีพมัคคุเทศก์ เพื่อเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนในตำบลท่าเทววงษ์สามารถใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อการเกี่ยวกับสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ ในแหล่งท่องเที่ยวชุมชนตำบลท่าเทววงษ์ได้        

ข้อมูลเนื้อหา เรื่องราว โดย คุณวันดี รักชาติ หัวหน้าหน่วยพิพิธภัณฑ์พระจุฑาธุชราชฐาน 
เรียบเรียงเนื้อหา โดย นางสาวนารีรัตน์ หัดนา
ภาพถ่าย/ภาพประกอบ โดย นางสาวนารีรัตน์ หัดนา
อ้างอิง http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2435/023/169_1.PDF
http://www.botany.sc.chula.ac.th/plantssichang/พิพิธภัณฑ์พระจุฑาธุชราชฐาน








Share this:

Post a Comment

ข้อคิดเห็นจากเครือข่าย TKP

 
Copyright © 2018 Thailand Knowledge Portal. Designed by OddThemes > Developed by mediathailand