“ประเพณีแข่งเรือยาวอำเภอพิมาย ตำนานแห่งสายน้ำ”
“แม่น้ำมูล” แม่น้ำที่เป็นดั่งเส้นเลือดใหญ่หล่อเลี้ยงผู้คนในเขตอีสานใต้ จากทิวเขาสันกำแพง เขื่อนลำมูลบน อำเภอครบุรี จังหวัดนคราชสีมา อันเป็นแหล่งต้นกำเนิดแม่น้ำสายสำคัญของภาคอีสาน ที่ไหลหล่อเลี้ยงผู้คน จากนครราชสีมา บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ ไหลลงสู่แม่น้ำโขงที่อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานีแม่น้ำมูลนอกจากจะมีความสำคัญด้านเกษตรกรรม และการอุปโภคบริโภคแล้ว ยังเป็นแหล่งรวมใจของ
พี่น้องประชาชนที่ได้แสดงออกถึงความสามัคคีของคนในชุมชน ผ่านประเพณีอันเก่าแก่และทรงคุณค่าของคนริมฝั่งลุ่มน้ำมูล อันได่แก่ “ประเพณีแข่งขันเรือยาว” ตลอดทั้งสายน้ำของแม่น้ำมูลนั้น มีการแข่งขันเรือยาวประเพณีอยู่หลายแห่ง และหนึ่งในนั้นที่มีชื่อเสียงระดับประเทศ และได้ชื่อว่ามีสนามแข่งขันเรือยาวที่สวยงามและได้มาตรฐานที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย นั่นก็คือ ประเพณีแข่งเรือยาวพิมาย
ประเพณีแข่งเรือยาวพิมาย เป็นงานประเพณีที่สืบทอดต่อกันมายาวนาน มากกว่า 100 ปี เมื่อถึง
ฤดูกาลทอดกฐิน ชาวบ้านจะเดินทางโดยเรือเพื่อไปทอดกฐินตามวัดต่าง ๆ หลังจากทอดกฐินเสร็จแล้วต่าง
เดินทางกลับภูมิลำเนาของตน ในระหว่างที่เดินทางกลับจึงได้พายเรือแข่งกัน เพื่อความสนุกเพลิดเพลิน จึงถือเป็นละเล่นที่สำคัญในฤดูน้ำหลาก สร้างความสนุกสนานให้กับผู้แข่งขันและมีผู้สืบทอดจนกลายเป็นประเพณี โดยมีการจัดแข่งขันในช่วงออกพรรษา ฤดูกาลทอดกฐินเป็นประจำทุกปี ต่อมาอำเภอพิมาย ได้พัฒนาการจัดการแข่งขันโดยได้มีเรือจากต่างอำเภอและต่างจังหวัด มาเข้าร่วมแข่งขันด้วย เป็นประจำทุกปี
ต่อมาในปี พ.ศ. 2532 การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กรมศิลปากร และจังหวัดนครราชสีมา ได้กำหนดให้มีการจัดงานประจำปีขึ้น ภายใต้ชื่องาน เทศกาลเที่ยวพิมาย โดยมีกิจกรรมแสงสีเสียง ในบริเวณ อุทยานประวัติศาสตร์พิมาย มีกิจกรรมต่าง ๆ มากมาย เช่น การประกวดแมวสีสวาด การประกวดผัดหมี่พิมาย การประกวดตำส้มตำ เป็นต้น และได้กำหนดให้การแข่งเรือยาวพิมาย บรรจุเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งและเป็นส่วน สำคัญของงานเทศกาลเที่ยวพิมายด้วย ต่อมาได้มีการปรับเปลี่ยนชื่อเป็น การแข่งขันเรือยาวประเพณี เทศกาลเที่ยวพิมาย จังหวัดนครราชสีมา มาจนถึงปัจจุบัน
การแข่งขันเรือยาวประเพณี เทศกาล เที่ยวพิมาย นั้นได้พัฒนาการจัดการแข่งเรือในระดับอำเภอ จนเป็นการแข่งขันเรือยาวระดับประเทศที่ได้มาตรฐาน โดยมีเรือยาวชื่อดังทั่วประเทศไทยเข้าร่วมแข่งขันชิงถ้วยพระราชทาน ของพระบรมวงศานุวงศ์ที่ทรงพระราชทาน เพื่อเป็นขวัญกำลังใจให้แก่ทีมเรือที่เข้าแข่งขัน งานดังกล่าวถือเป็นงานที่สร้างชื่อเสียงของจังหวัดนครราชสีมา และนักท่องเที่ยวก็ให้ความสนใจ มาเที่ยวชมงานเป็นจำนวนมาก กล่าวคือ เมื่อพูดถึงโคราชก็ต้องนึกถึงปราสาทหินพิมาย อีกทั้งอำเภอ พิมาย ยังมีจุดเด่นอีกอย่าง คือ การแข่งเรือยาว ประเพณีเทศกาลพิมาย เพราะที่อำเภอพิมาย มีลำน้ำจักราช อันเป็นลำน้ำสาขาของแม่น้ำมูล ซึ่งเป็นลำน้ำที่กว้างใหญ่ตรง ไม่คดเคี้ยวและมีกระแสน้ำที่นิ่งไม่ไหลเชี่ยว ผู้ชมสามารถนั่งชมการแข่งเรือยาวได้ทั้งสองฟากฝั่งริมน้ำ ทำให้การแข่งขันเรือยาวประเพณี เทศกาลเที่ยวพิมาย เป็นแบบอย่างการจัดการแข่งขันเรือยาวอีกแห่งหนึ่งที่ได้มาตรฐานที่สุดของประเทศไทย
ความพิเศษของการแข่งขันเรือยาวประเพณี เทศกาลเที่ยวพิมาย คือ เรือที่เข้าแข่งขันในประเภทท้องถิ่นจะเป็นเรือของคนในท้องถิ่นอย่างแท้จริง คือ เรือที่มาจากคุ้มวัด คุ้มบ้านต่าง ๆ ของอำเภอพิมาย วัดแต่ละวัดจะมีเรือประจำเป็นของตนเอง ที่มีฝีพายเป็นคนในหมู่บ้าน ที่จะร่วมกันฝึกฝนฝึกซ้อมกันทุกวัน เป็นเวลาแรมเดือนก่อนการแข่งขัน และที่ขาดไม่ได้เลย คือ กองเชียร์ที่เป็นสีสันของการแข่งเรือยาว กองเชียร์ แต่ละคุ้มวัดจะไม่มีใครยอมใคร เรียกได้ว่าจัดเต็มกันมาทุกคุ้มวัด
สนามแข่งขันเรือยาวประเพณี เทศกาลเที่ยวพิมาย ตั้งอยู่บนลำน้ำจักราช ติดกับโรงเรียนพิมายวิทยา ห่างจากปราสาทหินพิมาย ไปทางทิศตะวันตกเพียง 500 เมตร สามารถเดินทางได้ทั้งรถยนต์ส่วนตัว รถโดยสาร นักท่องเที่ยวสามารถเยี่ยมชมการแข่งเรือยาวได้ในช่วงเทศกาลเที่ยวพิมาย ซึ่งจะจัดขึ้นในวันเสาร์ และวันอาทิตย์ที่ 2 ของเดือนพฤศจิกายน เป็นประจำทุกปี “การแข่งขันเรือยาวประเพณี เทศกาลเที่ยวพิมาย” เป็นอีกประเพณีหนึ่งที่เราต้องหาโอกาสมาเที่ยมชมให้ได้สักครั้งในชีวิต
ข้อมูล เนื้อหา เรื่องราว เขียนโดย : นายนัฐพล คู่พิมาย ครู กศน.ตำบลกระเบื้องใหญ่ อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา
ภาพถ่าย/ภาพประกอบ : นายประจักษ์ ช่างไม้ Facebook : Kai P Canond
ข้อมูล TKP อ้างอิง https://sites.google.com/view/nattapon304/home
Post a Comment