TKP HEADLINE

ภูมิปัญญาท้องถิ่น "ภาษามอญ"


ภูมิปัญญาท้องถิ่น (ภาษามอญ) 



            ความเป็นมาของชาวมอญตำบลบ้านงิ้ว ตำบลบ้านงิ้วอำเภอสามโคกจังหวัดปทุมธานี มีชาวมอญเชื้อสายไทยตั้งถิ่นฐานอาศัยอยู่บริเวณ ริมแม่น้ำตำบลบ้านงิ้ว เป็นจำนวนมากตั้งแต่อดีต จนถึงปัจจุบันเนื่องจาก เมื่อปีพ.ศ. 2310 ไทยเสียกรุงศรีอยุธยาให้แก่พม่า พญาเมืองกลายเป็นหมู่บ้านร้างลืม ผู้คน ถูกกวาดต้อนเข้าสู่ศึกสงคราม ความพ่ายแพ้บ้านเมืองถูกเผา ผู้คนล้มตายศพถูกทิ้งเกลื่อนเต็มลำาน้ำ ผู้คนถูกพม่าข้าศึก กวาดต้อนไปเป็นทาสใช้แรงงานยังเมืองพระโค พร้อมทรัพย์สมบัติที่ปล้นไปจากกรุงศรีอยุธยา พญาเมืองก็สิ้นกลายเป็นเมืองร้าง วัดวาอารามบ้านเรือนถูกทำลายกลายเป็นซากโบราณสถาน ไร้ผู้คนอาศัย สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พระบามสมเด็จพระพุทธ เลิศหล้านภาลัย (พ.ศ.2352-2367) ในปี พ.ศ.2358 ชาวมอญถูกพม่า กดขี่ข่มเหงได้รับความลำบากยากเข็ญ จึงพากันอพยพเข้ามาพึ่งพระบรม โพธิสมภาร ทางด่านเจดีย์สามองค์โปรดให้กรมพระราชวังบวรสถานมงคลเสด็จขึ้นไปรับครัวมอญ 40,000 คนโปรดให้ตั้งภูมิลำเนาอยู่ที่เมืองนนทบุรีและเมืองสามโคก ในส่วนของเมืองสามโคกทางการได้กำหนดเขตให้อยู่เป็นหมู่เหล่าแต่งตั้งหัวหน้าควบคุม สังกัดมูลนาย ทางการได้จัดการจัดไม้สำหรับปลูกสร้างบ้านเรือน ตลอดจนเสบียงอาหารพระราชทาน ในส่วนพญาเมืองเป็นบ้านเมืองร้างภายหลังศึกสงคราม ก็เริ่มมีการอพยพผู้คนไปตั้งบ้านเรือนแล้วแต่ไม่มากนัก ยังมีพื้นที่ว่างรกร้างอีกทั้งวัดวาอารามครั้งแผ่นดิน สมัยอยุธยาที่ชำรุดทรุดโทรมเป็นอันมาก เช่นวัดร้างบริเวณวัดสองพี่น้องไม่ น้อยกว่า 2 วัด จึงให้ชาวมอญ จากเมืองเมาะตะมะที่อพยพมาจากหมู่บ้าน"ฮะกราด"ตั้งบ้านเรืองอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นบ้านมอญ หมู่ใหญ่ และได้บูรณะปฏิสังขรณ์และสร้างวัดขึ้นใหม่เป็นศูนย์กลางในการปฏิบัติธรรมของชาวพุทธ ให้ชื่อว่า "วัดสองพี่น้อง" ซึ่งมีชาวมอญอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก 


 ภาษามอญนักภาษาศาสตร์จัดโครงสร้างภาษามอญให้อยู่ในตระกูลภาษาออสโตรเอเชียติก (Austroasiatic Languages Family) กลุ่มภาษามอญ-เขมร (Mon-Khmer) พูดโดยชาวมอญ ที่อาศัยอยู่ในพม่า และไทย ภาษาตระกูล มอญ-เขมรมีการใช้มานานประมาณ 3,000-4,000 ปี มาแล้ว มีผู้ใช้ภาษานี้อยู่ประมาณ 5,000,000 คน การจัดตระกูลภาษา ถือว่าอยู่ในตระกูลภาษาออสโตรเอเชียติก ซึ่งเป็นภาษาที่ใช้กันอยู่ในแถบ อินโดจีนและทางตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย และเมื่อพิจารณาลักษณะทางไวยากรณ์ ภาษามอญ จัดอยู่ในประเภทภาษารูปคำติดต่อ (Agglutinative) อยู่ในกลุ่มภาษาตะวันออกเฉียงใต้ (South Eastern Flank Group) ซึ่งมีนักภาษาศาสตร์ ชื่อ วิลเฮล์ม ชมิดท์ (Willhelm Schmidt) ได้จัดให้อยู่ในตระกูลภาษา สายใต้ (Austric Southern family) พระยาอนุมานราชธน (อ้างถึงใน จำปา เยื้องเจริญ และจำลอง สารพัดนึก : 2528) ได้กล่าวถึง ภาษา มอญไว้ว่า “ภาษามอญ นั้นมีลักษณะเป็นภาษาคำโดด ซึ่งมีรูปภาษาคำติดต่อปน ลักษณะคำมอญ จะมีลักษณะ เป็นคำพยางค์เดียว หรือสองพยางค์ ส่วนคำหลายพยางค์ เป็นคำที่ได้รับอิทธิพลจากภาษาต่างประเทศ เช่น ภาษาบาลีและสันสกฤต อาจกล่าวได้ว่า ภาษามอญ เป็นภาษาที่มีโครงสร้างไม่ซับซ้อน ไม่มีการผันคำนาม คำกริยา ตามกฎบังคับทางไวยากรณ์ ประโยคประกอบด้วย คำที่ทำหน้าประธาน กริยา และกรรม ส่วนขยาย อยู่หลังคำที่ถูกขยาย 
         อักษรมอญ พัฒนามาจากอักษรพราหมี ผ่านทางอักษรปัลลวะ และเป็นแม่แบบของอักษรอื่น เช่น อักษรพม่า อักษรไทย อักษรลาว อักษรล้านนา อักษรไทลื้อ อักษรธรรมที่ใช้เขียนคัมภีร์ในล้านนา และล้านช้าง อักษรพม่า ไม่สามารถใช้แทน อักษรมอญได้ แต่อักษรมอญนั้น สามารถใช้แทนอักษรพม่าได้ 


         อักษรมอญโบราณพัฒนามาจากอักษรยุคหลังปัลลวะ (พุทธศตวรรษ 17-18) พบจารึกอักษรนี้ในเขต หริภุญชัย เช่นที่ เวียงมโน เวียงเถาะ รูปแบบของอักษรมอญต่างจากอักษรขอมที่ พัฒนาจากอักษรในอินเดียใต้ รุ่นเดียวกันคือ อักษรมอญตัดบ่าอักษรออกไป ทำให้รูปอักษรค่อนข้างกลม ส่วนอักษรขอมเปลี่ยนบ่าอักษรเป็น ศกหรือหนามเตย (ดู ตารางที่ 1 และ 2) บรรณานุกรม จากตารางที่ 1 และ 2 ทำให้เราเห็นอิทธิพลของอักษรมอญที่มีผลต่ออักษรไทย โดยรูปสัณฐานของ อักษรมอญจะเป็นทรงกลม มน และโค้งอักษรมอญโบราณเป็นตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่าอารยธรรมไทยสืบสายจากแม่ที่เป็นชาวมอญ อักษรมอญปัจจุบันว่ามิใช่เพียงแค่รูปเขียนที่คล้ายคลึงกับ อักษรไทย, อักษรพม่า และอักษร ลาว ทว่าการออกเสียงพยัญชนะมอญ มีความคล้ายคลึงกับการอ่าน ออกเสียงพยัญชนะไทย 

ภูมิปัญญาท้องถิ่น ภาษามอญ 
    นางสาวสมทรง รัฐถานาวิน ที่ตั้ง 68 หมู่ 2 ต.บ้านงิ้ว อ.สามโคก จ.ปทุมธานี เป็นผู้มีความรู้ เกี่ยวกับภาษามอญ วัฒนธรรม ประเพณี ของชาวมอญเป็นอย่างดี ช่วยเหลืองาน ในชุมชนอย่างต่อเนื่อง มีอัธยาศัยดี และอยู่ในชุมชนชาวมอญมานานกว่า 60 ปี และท่านก็ยังอยู่ในกลุ่มอาชีพ การปักผ้าสไบมอญและกลุ่มยังได้รับรางวัลเกี่ยวกับการปักลวดลายผ้าสไบ มอญ ซึ่งกศน.อำเภอสามโคก ก็ได้ส่งเสริมสนับสนุนการปัก ลวดลายบนผ้าสไบมอญ ท่านได้ใช้ภาษามอญในการดำเนินชีวิตประจำวัน เพื่ออนุรักษ์วัฒนธรรมทางด้านภาษาของชาวมอญ นางสาวสมทรง รัฐถานาวิน ได้ตระหนักถึงความสำคัญของวัฒนธรรมภาษามอญ ซึ่งชุมชนบ้านงิ้ว เป็นชุมชน ชาวมอญที่ตั้งถิ่นฐาน อยู่มานานกว่า 60 ปี ภาษามอญ ถือว่าเป็นเอกลักษณ์ที่สำคัญของชุมชน ตำบลบ้านงิ้ว เพื่อเป็นการสืบสานวัฒนธรรมของชาวมอญ นางสาวสมทรง รัฐถานาวิน จึงนำภาษามอญมาใช้ในการดำเนินชีวิต ประจำวัน เช่น การรวมกลุ่มทำกิจกรรมชุมชน ไม่ว่าจะการรวมกลุ่ม เรียนวิชาชีพที่ กศน.สามโคกสนับสนุนท่านก็พูดภาษามอญสื่อสารกับ คนในกลุ่ม เพื่อให้คนรุ่นหลังได้รู้จักภาษามอญและอนุรักษ์ภาษามอญไว้ 

 ข้อมูลเนื้อหาเรื่องราวโดย 1.http://banngew.go.th 2.http://culture.mcru.ac.th 
เรียบเรียงเนื้อหาโดย นางกิตติญา บางชวด (ผู้ส่งบทความ) 
ภาพถ่าย ภาพที่ 3 และ 4 โดย นางจันทร์ฉาย พวงคำ ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านหมู่ 2 ตำบลบ้านงิ้ว 
 ภาพประกอบ ภาพที่ 1, 2 โดย http://culture.mcru.ac.th

Share this:

Post a Comment

ข้อคิดเห็นจากเครือข่าย TKP

 
Copyright © 2018 Thailand Knowledge Portal. Designed by OddThemes > Developed by mediathailand