สืบสานงานประเพณีบุญข้าวจี่ หนึ่งเดียวในภาคตะวันออก
ประเพณีบุญข้าวจี่ เป็นประเพณีของชาวอีสานที่อพยพมาอาศัยอยู่ในตำบลคลองตะเกรา อำเภอท่าตะเกียบ จังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งย้ายถิ่นฐานมาจากหลากหลายจังหวัดทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย เช่น จังหวัดกาฬสินธุ์ บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี นครราชสีมา เป็นต้น และได้นำศิลปวัฒนธรรมที่มีความแตกต่างไปจากภาคอื่นๆ เข้ามาถือปฏิบัติ เช่น ศิลปะการรำเซิ้ง ประเพณีบุญบั้งไฟ และประเพณีบุญข้าวจี่ ซึ่งประเพณีบุญข้าวจี่ ประชาชนจะร่วมกันทำข้าวจี่ไปถวายพระสงฆ์ และนำไปบวงสรวงศาลเพียงตาประจำหมู่บ้านเป็นประจำทุกปี เพื่อสืบสานและอนุรักษ์ขนบธรรมเนียมประเพณีบุญข้าวจี่ให้คงอยู่ในชุมชน เป็นประเพณีอันดีงามของชุมชนในอำเภอท่าตะเกียบ อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมกิจกรรมเพื่อสร้างความสัมพันธ์อันดีงามระหว่างหมู่บ้าน วัด โรงเรียน ให้คนในชุมชนเกิดความรักใคร่สามัคคี
“บุญข้าวจี่”
เป็นงานบุญประเพณีของชาวอีสาน ที่กระทำกันในเดือนสาม
จนเรียกว่า บุญเดือนสาม
บุญข้าวจี่ถูกกำหนดอยู่ในฮีตสิบสอง คือ ภายหลังการทำบุญวันมาฆบูชา (เดือนสาม ขึ้น 14 ค่ำ) แล้ว ส่วนใหญ่จะกำหนดวันแรม 13 ค่ำ และ 14 ค่ำ เดือนกุมภาพันธ์
ส่วนมูลเหตุดั้งเดิมของการทำบุญข้าวจี่มีเรื่องเล่าว่าในกาลครั้งหนึ่ง
นางปุณณทาสีได้ทำขนมแป้งจี่ถวายแด่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระอานนท์เถระ
ครั้นถวายแล้วนางคิดว่าพระองค์คงไม่เสวยและอาจเอาทิ้งให้สุนัขหรือกากิน
เพราะอาหารที่นางถวายไม่ประณีตสวยงาม
เมื่อพระพุทธเจ้าทรงทราบภาวะจิตของนางปุณณทาสี จึงรับสั่งให้พระอานนท์ปูสาดอาสนะ
แล้วทรงประทับนั่งฉัน ณ บริเวณที่นางถวายเป็นผลให้นางเกิดปีติยินดีเป็นอย่างยิ่ง
และเมื่อนางได้ฟังพระธรรมเทศนา ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงก็ทำให้บรรลุโสดาปัตติผล
ด้วยอานิสงส์ที่ถวายข้าวจี่ ชาวอีสานทราบอานิสงส์ของการกระทำดังกล่าว จึงพากันทำข้าวจี่ถวายแด่พระสงฆ์สืบต่อมา
"ข้าวจี่" เป็นข้าวเหนียวนึ่งให้สุกแล้วนำมาปั้นเป็นก้อนโตประมาณเท่าไข่เป็ดขนาดใหญ่ ทาเกลือคลุกเคล้าให้ทั่วและนวดให้เหนียว แล้วเสียบไม้ ย่างไฟ ถ้าไม่เสียบไม้จะย่างบนตะแกรงเหล็กหรือบนไม้ไผ่ผ่าซีกสานขัดกันเป็นตะแกรงห่าง ๆ ก็ได้ โดยย่างบนเตาถ่านพลิกไปพลิกมาจนมีแห้งโดยรอบ จึงนำออกมาทาด้วยไข่ที่ตีให้ไข่ขาวไข่แดงเข้ากันดีจนทั่วปั้นข้าวจี่ที่ย่างจนแห้ง แล้วนำไปย่างไฟให้สุกอีกครั้ง บางแห่งเมื่อเอาข้าวเหนียวย่างไฟเสร็จแล้วถอดเอาไม้ออกจะนำน้ำอ้อยปึกใส่เป็นไส้ข้างในในปัจจุบันการทำข้าวจี่มีการพัฒนารสชาติที่หลากหลาย โดยผสมด้วยฟักทอง เผือก มัน
“50 ปีบุญข้าวจี่” ชาวบ้านในหมู่บ้านทุ่งส่าย ตำบลคลองตะเกรา เป็นหมู่บ้านแรกที่ได้ร่วมกันจัดประเพณีบุญข้าวจี่ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2515 เป็นประเพณีที่เกิดจากความสมัครสมานสามัคคีของชาวบ้านในชุมชน ชาวบ้านจะร่วมกันจัดเตรียมสถานที่โดยใช้ศาลากลางบ้านเป็นสถานที่จัดงาน ช่วยกันทำความสะอาดศาลเพียงตาประจำหมู่บ้าน มีการบอกบุญไปยังหมู่บ้านใกล้เคียงให้มาร่วมประเพณีบุญข้าวจี่ ครั้งเมื่อถึงรุ่งเช้าชาวบ้านจะร่วมกันจี่ข้าวหรือปิ้งข้าวเหนียวและตักบาตรข้าวจี่ร่วมกัน หลังจากนั้นจะมีพิธีบวงสรวงศาลเพียงตาประจำหมู่บ้าน โดยมีการจัดขบวนแห่บุญข้าวจี่ซึ่งมีการตกแต่งขบวนอย่างสวยงาม อลังการ แต่ละขบวนจะมีขบวนรำเซิ้งประมาณ 30 คน จากหมู่บ้านต่าง ๆ ซึ่งการจัดงานในทุกปีจะมีผู้เข้าร่วมงานจากทั่วทุกสารทิศเป็นจำนวนมาก การจัดขบวนแห่ข้าวจี่เป็นการแสดงถึงศิลปวัฒนธรรม ของชาวอีสานที่เป็นประเพณีอันดีงาม เราจะได้เห็นรอยยิ้มของชาวบ้านที่แสดงถึงความสุข สนุกสนาน กิจกรรมงานบุญข้าวจี่จะมีกิจกรรมที่หลากหลาย เช่น การแข่งกีฬาพื้นบ้าน การแข่งขันทำข้าวจี่ และกศน.อำเภอท่าตะเกียบ จะมีส่วนร่วมในขบวนแห่เป็นประจำทุกปี
การสืบสานประเพณีบุญข้าวจี่ เป็นการสืบสานงานประเพณีจากรุ่นสู่รุ่น และได้รับการส่งเสริมสนับสนุนให้เป็นเทศกาลเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดฉะเชิงเทรา ส่งผลให้เกิดการส่งเสริมอาชีพสร้างรายได้ให้ชาวบ้านและท้องถิ่นอีกด้วย
ตำแหน่งที่ตั้ง จัดงานที่หมู่บ้านทุ่งส่าย หมู่ที่ 12 ตำบลคลองตะเกรา อำเภอท่าตะเกียบ จังหวัดฉะเชิงเทรา การเดินทาง ใช้เส้นทางฉะเชิงเทรา - ท่าตะเกียบ เมื่อถึง สี่แยกอำเภอพนมสารคาม ให้เลี้ยวขวาไปอำเภอสนามชัยเขต ระยะทาง 14 กม. จากอำเภอสนามชันเขต ตรงมา 1 กม. ให้เลี้ยวขวา ไปอีก 35 กม. เดินทางผ่านหน้าที่ว่าการอำเภอท่าตะเกียบ ไปอีก 4 กม. ให้เลี้ยวขวาก็จะถึงบ้านทุ่งส่าย
ผู้ให้ข้อมูล โดย นายสมหมาย ชินหงศ์ รองนายก อบต.คลองตะเกรา
ผู้เขียน/เรียบเรียง โดย นายสงวน มูลวงค์
ภาพถ่าย/ภาพประกอบ โดย นายสงวน มูลวงค์
ข้อมูล TKP อ้างอิง : https://shorturl.asia/lFR37
Post a Comment