TKP HEADLINE

วิถีชุมชนคนทำนา ชีวิตวิถีเกษตรกรรม


อาชีพเกษตรกรรม นับเป็นอาชีพเก่าแก่ที่อยู่คู่กับคนไทยมาช้านาน โดยเฉพาะ “การทำนา” เป็นอาชีพที่สืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษจนถึงปัจจุบัน “การทำนา” เป็นอาชีพหลักของคนในชุมชนตำบลจันทิมา ซึ่งมีความสำคัญในฐานะเป็นอาชีพหล่อเลี้ยงชีวิตและเศรษฐกิจฐานรากของคนในพื้นที่ ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมหลัก ๆ ได้แก่ การปลูกข้าว อ้อย มันสำปะหลัง และปศุสัตว์

ตำบลจันทิมา อำเภอลานกระบือ จังหวัดกำแพงเพชร มีเนื้อที่ประมาณ 28,558 ไร่ (47 ตารางกิโลเมตร) แยกเป็นพื้นที่ทำการเกษตร 25,353 ไร่ และพื้นที่อยู่อาศัย 1,780 ไร่ ตั้งอยู่ห่างจากอำเภอลานกระบือ ไปทางทิศใต้ประมาณ 9 กิโลเมตร สภาพภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่ม มีน้ำขังในฤดูฝน ที่ลุ่มที่ใช้ทำนาบางแห่งมีการยกร่องปลูกไม้ผล ขุดสระเลี้ยงปลา และมีทุ่งหญ้าสำหรับเลี้ยงสัตว์ ในช่วงฤดูแล้งจะใช้น้ำบาดาลทำการเกษตร


การทำนาในอดีต คนส่วนมากจะรู้จักวิธีการปลูกข้าวแบบนาดำและนาหว่าน ซึ่งการทำนาทั้งสองวิธีนั้น มีข้อดีและข้อเสียแตกต่างกันออกไป โดยนาดำนั้นมีข้อดี คือ ระยะห่างของต้นข้าวจะพอดีไม่เบียดกัน ทำให้ต้นข้าวสามารถเจริญเติบโตได้ดี แต่มีข้อเสีย คือ ต้องใช้เวลานานในการปักดำต้นข้าว ส่วนนาหว่านจะใช้เวลาที่น้อยกว่าและได้ปริมาณต้นข้าวที่มากกว่าด้วยการหว่านเมล็ด แต่มีข้อเสียคือในขณะที่รอต้นข้าวเติบโตก็จะเสียเมล็ดไปกับการมาจิกกินของนก และหากฝนตกในวันที่หว่านแล้วเมล็ดข้าวก็จะลอยหายไปกับน้ำหรือเน่าเสียจากการแช่ขังของน้ำเป็นเวลานาน นอกจากการทำนาสองวิธีดังกล่าวแล้ว ยังมีการปรับปรุงวิธีการปลูกข้าวเพื่อให้ได้ผลลิตที่ดีออกมา เรียกว่า การทำนาโยน เป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมการทำนาแบบใหม่ที่ลดปัญหาการเกิดข้าววัชพืช การระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล และช่วยประหยัดเมล็ดพันธุ์ลงได้


     ตำบลจันทิมา มีพื้นที่ที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกร จำนวน 20,934 ไร่ ทำการเกษตร 894 ครัวเรือน  ประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำนา ร้อยละ 51.23 ชาวนาในพื้นที่จะทำนาปีละ 3 ครั้ง เนื่องจากมีระบบน้ำชลประทานจากสำนักชลประทานจังหวัดกำแพงเพชร ได้ระบายน้ำใช้เพื่อการเกษตรผ่านท่อทองแดง/คลองส่งน้ำมายังพื้นที่ในตำบลจันทิมา และยังมีฝายกักเก็บน้ำ จำนวน 4 แห่ง ลำห้วย จำนวน 8 สาย บึง/หนองน้ำอื่น ๆ จำนวน 4 แห่ง หากปีใดมีน้ำใช้ทำการเกษตรน้อยประชาชนจะสูบน้ำจากบ่อบาดาลขึ้นมาใช้ ซึ่งพื้นที่ทางการเกษตรกระจายอยู่ทั่วทุกหมู่บ้านในตำบลจันทิมา ข้าวที่ปลูกทั้งหมดจะเป็นข้าวจ้าว และมีบางพื้นที่ปลูกข้าวไรซ์เบอรี่แบบเกษตรอินทรีย์ (ข้าวปลอดสารพิษ) 

ขั้นตอนการทำนา

1. การเตรียมดิน ก่อนการทำนาจะมีการเตรียมดินอยู่ 3 ขั้นตอน คือ

      1.1 การไถดะ เป็นการไถครั้งแรกตามแนวยาวของพื้นที่กระทงนา (กรณีที่แปลงนาเป็นกระทงย่อยๆ หลายกระทงในหนึ่งแปลงนา) เมื่อไถดะจะช่วยพลิกดินให้ดินชั้นล่างได้ขึ้นมาสัมผัสอากาศ ออกซิเจน และเป็นการตากดินเพื่อทำลายวัชพืช และโรคพืชบางชนิด การไถดะจะเริ่มทำเมื่อฝนตกครั้งแรกในปีฤดูกาลใหม่ หลังจากไถดะจะตากดินเอาไว้ประมาณ 1–2 สัปดาห์

      1.2 การไถแปร หลังจากที่ตากดินเอาไว้พอสมควรแล้ว การไถแปรจะช่วยพลิกดินที่กลบไว้ขึ้นมาอีกครั้ง เพื่อทำลายวัชพืชที่ขึ้นใหม่ และเป็นการย่อยดินให้มีขนาดเล็กลง จำนวนครั้งของการไถแปรจึงขึ้นอยู่กับชนิดและปริมาณของวัชพืช ลักษณะดินและระดับน้ำในพื้นที่ ขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำฝนด้วย แต่โดยทั่วไปแล้วจะไถแปรเพียงครั้งเดียว

      1.3 การคราด เพื่อเอาเศษวัชพืชออกจากกระทงนา และย่อยดินให้มีขนาดเล็กลงอีก จนเหมาะแก่การเจริญของข้าว ทั้งยังเป็นการปรับระดับพื้นที่ให้มีความสม่ำเสมอ เพื่อสะดวกในการควบคุมดูแลการให้น้ำ

2. การปลูก

      การปลูกข้าวสามารถแบ่งได้เป็น 2 วิธี คือ การปลูกด้วยเมล็ดโดยตรง ได้แก่ การทำนาหยอดและนาหว่าน  และการเพาะเมล็ดในที่หนึ่งก่อน แล้วนำต้นอ่อนไปปลูกในที่อื่นได้แก่ การทำนาดำ และการทำนาโยน

      2.1 การทำนาหยอด ใช้กับการปลูกข้าวไร่ตามเชิงเขาหรือในที่สูง วิธีการปลูก : หลังการเตรียมดินให้ขุดหลุมหรือทำร่อง แล้วจึงหยอดเมล็ดลงในหลุมหรือร่อง จากนั้นกลบหลุมหรือร่อง เมื่อต้นข้าวงอกแล้วต้องดูแลกำจัดวัชพืชและศัตรูพืช

      2.2 การทำนาหว่าน ทำในพื้นที่ควบคุมน้ำได้ลำบาก วิธีหว่าน ทำได้ 2 วิธี คือ หว่านข้าวแห้ง หรือหว่านข้าวงอก

ก) การหว่านข้าวแห้ง แบ่งตามช่วงระยะเวลาของการหว่านได้ 3 วิธี คือ

             1. การหว่านหลังขี้ไถ ใช้ในกรณีที่ฝนมาล่าช้าและตกชุก มีเวลาเตรียมดินน้อย จึงมีการไถดะเพียงครั้งเดียวและไถแปรอีกครั้งหนึ่ง แล้วหว่านเมล็ดข้าวลงหลังขี้ไถ เมล็ดพันธุ์อาจเสียหายเพราะหนูกัดกิน และอาจมีวัชพืชในแปลงนามาก

             2. การหว่านคราดกลบ จะทำหลังจากที่ไถแปรครั้งสุดท้ายแล้วคราดกลบ จะได้ต้นข้าวที่งอกสม่ำเสมอ

             3. การหว่านไถกลบ มักทำเมื่อถึงระยะเวลาที่ต้องหว่าน แต่ฝนยังไม่ตกและดินมีความชื้นพอควร หว่านเมล็ดข้าวหลังขี้ไถแล้วไถแปรอีกครั้ง เมล็ดข้าวที่หว่านจะอยู่ลึกและเริ่มงอกโดยอาศัยความชื้นในดิน

ข) การหว่านข้าวงอก (หว่านน้ำตม) เป็นวิธีที่ชาวนาในตำบลจันทิมานิยมใช้มากที่สุด เป็นการหว่านเมล็ดข้าวที่ถูกเพาะให้รากงอกก่อนที่จะนำไปหว่านในที่ที่มีน้ำท่วมขัง เพราะหากไม่เพาะเมล็ดเสียก่อน เมื่อหว่านแล้วเมล็ดข้าวอาจเน่าเสียได้ การเพาะข้าวทอดกล้าทำโดยการเอาเมล็ดข้าวใส่กระบุง ไปแช่น้ำเพื่อให้เมล็ดที่มีน้ำหนักเบาหรือลีบลอยขึ้นมาแล้วคัดทิ้ง แล้วนำเมล็ดถ่ายลงในกระบุงที่มีหญ้าแห้งกรุไว้ หมั่นรดน้ำเรื่อยไป อย่าให้ข้าวแตกหน่อ แล้วนำไปหว่านในที่นาที่เตรียมดินไว้แล้ว


ค) การทำนาดำ เป็นการปลูกข้าวโดยเพาะเมล็ดให้งอกและเจริญเติบโตในระยะหนึ่ง แล้วย้ายไปปลูกในอีกที่หนึ่ง สามารถควบคุมระดับน้ำและวัชพืชได้ การทำนาดำแบ่งได้เป็น 2 ขั้นตอน คือ

   1. การตกกล้า โดยเพาะเมล็ดข้าวเปลือกให้มีรากงอกยาว 3–5 มิลลิเมตร นำไปหว่านในแปลงกล้า ช่วงระยะ 7 วันแรก ต้องควบคุมน้ำไม่ให้ท่วมแปลงกล้า และถอนกล้าไปปักดำได้เมื่อมีอายุประมาณ 20–30 วัน

   2. การปักดำ ชาวนาจะนำกล้าที่ถอนแล้วไปปักดำในแปลงปักดำ ระยะห่างระหว่างกล้าแต่ละหลุมจะมีความแตกต่างกันขึ้นอยู่กับลักษณะของดิน คือ ถ้าเป็นนาลุ่ม ปักดำระยะห่างหน่อย เพราะข้าวจะแตกกอใหญ่ แต่ถ้าเป็นนาดอนปักดำค่อนข้างถี่ เพราะข้าวจะไม่ค่อยแตกกอ

ง) การทำนาโยน เป็นการปลูกข้าวโดยเพาะเมล็ดให้งอกและเจริญเติบโตในถาดเพาะกล้าแบบแห้ง เมื่อต้นกล้ามีอายุได้ 12–16 วัน จะมีความสูงประมาณ 3–5 นิ้ว ก็สามารถโยนกล้าในนาน้ำตมที่เตรียมไว้ได้

3. การเก็บเกี่ยว

หลังจากที่ข้าวออกดอกหรือออกรวงประมาณ 20 วัน ชาวนาจะเร่งระบายน้ำออก เพื่อเป็นการเร่งให้ข้าวสุกพร้อมๆ กัน และทำให้เมล็ดมีความชื้นไม่สูงเกินไป จะสามารถเก็บเกี่ยวได้หลังจากระบายน้ำออกแล้วประมาณ 10 วัน ระยะเวลาที่เหมาะสมสำหรับการเก็บเกี่ยว เรียกว่า ระยะพลับพลึง คือสังเกตที่ปลายรวงจะมีสีเหลืองและ กลางรวงเป็นสีตองอ่อน การเก็บเกี่ยวในระยะนี้จะได้เมล็ดข้าวที่มีความแข็งแกร่ง มีน้ำหนัก และมีคุณภาพในการสี

4. การนวดข้าว

หลังจากตากข้าว ชาวนาจะขนเข้ามาในลานนวด จากนั้นก็นวดเอาเมล็ดข้าวออกจากรวง บางแห่งใช้แรงงานคน บางแห่งใช้ควายหรือวัวย่ำ แต่ปัจจุบันมีการใช้เครื่องเกี่ยวนวดข้าวแล้ว

5. การเก็บรักษา

เมล็ดข้าวที่นวดฝัดทำความสะอาดแล้วควรตากให้มีความชื้นประมาณ 14% ก่อนนำเข้าเก็บในยุ้งฉาง ยุ้งฉางที่ดีควรมีลักษณะดังต่อไปนี้

1. อยู่ในสภาพที่มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก การใช้ลวดตาข่ายกั้นให้มีร่องระบายอากาศกลางยุ้งฉางจะช่วยให้การถ่ายเทอากาศดียิ่งขึ้น คุณภาพเมล็ดข้าวจะคงสภาพดีอยู่นาน

2. อยู่ใกล้บริเวณบ้านและติดถนน สามารถขนส่งได้สะดวก

3. เมล็ดข้าวที่จะเก็บไว้ทำพันธุ์ ต้องแยกจากเมล็ดข้าวบริโภค โดยอาจบรรจุกระสอบ มีป้ายบอกวันบรรจุ และชื่อพันธุ์แยกไว้ส่วนใดส่วนหนึ่งในยุ้งฉาง เพื่อสะดวกในการขนย้ายไปปลูก


การทำนาในปัจจุบัน ส่วนใหญ่จะประสบปัญหาต้นทุนการผลิตสูง ราคาข้าวตกต่ำ ถูกกดราคาจากพ่อค้าคนกลาง และบางฤดูกาลพืชผลเสียหายเนื่องจากโรคระบาด แมลงศัตรูพืชรบกวน และภัยพิบัติทางธรรมชาติ ทำให้ได้ผลผลิตปริมาณลดลง ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของเกษตรกรในพื้นที่ โดยเฉพาะปัญหาต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นมากและราคาข้าวตกต่ำ ซึ่งเป็นปัจจัยภายนอกที่ส่งผลกระทบต่อชาวนามากที่สุด แม้ชาวนาในพื้นที่จะประสบปัญหาดังกล่าว ก็ยังพอมีต้นทุนด้านน้ำที่ใช้ทำการเกษตรเป็นปัจจัยเกื้อหนุนให้สามารถดำเนินกิจกรรมต่อไปได้ อีกทั้งชาวนาในตำบลจันทิมา ยังปรับเปลี่ยนรูปแบบ/เทคนิคการทำนา ประยุกต์ใช้ภูมิปัญญาพื้นบ้านและศึกษาหาความรู้ที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ รวมทั้งนำเทคโนโลยีทางการเกษตรสมัยใหม่เข้ามาใช้เพื่อช่วยลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิตในนาข้าว แม้จะไม่ร่ำรวย แต่การทำนาก็คืออาชีพหลักที่สำคัญต่อการดำรงชีพที่หล่อเลี้ยงชีวิตของคนในชุมชน ทำให้เกิดการจ้างงานของแรงงานภาคการเกษตร สร้างรายได้ เป็นฟันเฟืองของระบบเศรษฐกิจฐานราก และสามารถสะท้อนวิถีชีวิตเกษตรกรรมของคนทำนาในตำบลจันทิมาได้อย่างชัดเจน


เรียบเรียงโดย นางสาวมัทนา  บำรุงเชื้อ ตำแหน่ง ครู กศน.ตำบล
สังกัด กศน.อำเภอลานกระบือ จังหวัดกำแพงเพชร
ภาพถ่าย/ภาพประกอบโดย นางสาวมัทนา  บำรุงเชื้อ
ข้อมูลเนื้อหาบางส่วนโดย นายประทุม  บำรุงเชื้อ





Share this:

Post a Comment

ข้อคิดเห็นจากเครือข่าย TKP

 
Copyright © 2018 Thailand Knowledge Portal. Designed by OddThemes > Developed by mediathailand