TKP HEADLINE

สืบสานงานประเพณีบุญบั้งไฟ หนึ่งในภาคตะวันออก

 

บ้านหนองคอก ตำบลคลองตะเกรา อำเภอท่าตะเกียบ ประชากรส่วนใหญ่อพยพมาจากจังหวัดต่างๆ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น จังหวัดมหาสารคาม ร้อยเอ็ด อุบลราชธานี หนองคาย เป็นต้น ดังนั้นวัฒนธรรมประเพณี วิถีชีวิต จะเหมือนกับคนทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทั้งการใช้ภาษาถิ่น คือ ภาษาอีสาน ที่มีถึงร้อยละ 70 และภาษาถิ่นอื่นๆ ร้อยละ 30 วัฒนธรรมทางอาหาร เช่น การกินข้าวเหนียว แกงอ่อม แกงเปรอะ ลาบฯลฯ การแต่งกายด้วยผ้าไหมทอมือ โดยมีหมู่บ้าน ชุมชนที่มีการทอผ้าที่มีชื่อเสียง รวมทั้งประเพณี และวัฒนธรรมต่างๆ เช่น การฟ้อนภูไท บุญข้าวจี่ บุญข้าวเปลือก บุญผะเหวด บุญบั้งไฟ เป็นต้น

ประเพณีบุญบั้งไฟ เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่มีการจัดงานสืบสาน สืบทอดต่อๆ กันมา ตั้งแต่บรรพบุรุษซึ่งได้ย้ายมาตั้งถิ่นฐาน โดยเริ่มจัดให้มีขึ้นมาตั้งแต่ พ.ศ. 2519 และจัดมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน มากกว่า 45 ปี การจัดประเพณีบุญบั้งไฟ ของบ้านหนองคอก มีการจัดอย่างยิ่งใหญ่ทุกปี เพื่อปลูกฝังให้เยาวชนคนรุ่นหลังได้รับรู้ความเป็นมา และร่วมกันสืบทอดประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่นต่อไป
การจัดงานประเพณีบุญบั้งไฟ จัดในช่วงเดือน 6 ของทุกปี หรือระหว่างเดือนพฤษภาคม – มิถุนายน ซึ่งเป็นช่วงฤดูฝน  มีการฟ้อน การละเล่น การจัดขบวนแห่เป็นประจำทุกปี ในครั้งแรกที่จัดเป็นการจัดแบบเล็กๆ ในกลุ่มชาวบ้าน ไม่เป็นที่รู้จักของคนทั่วไป ต่อมาเมื่อชุมชนมีการขยายตัวใหญ่มากขึ้น ทำให้มีผู้สนใจร่วมงานเป็นจำนวนมาก จึงกลายเป็นประเพณีประจำอำเภอท่าตะเกียบตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา และได้รับการนับสนุนจากองค์การบริหารส่วนตำบลคลองตะเกรา  ประชาชนให้ความร่วมมือ จึงได้สืบสานงานประเพณีบุญบั้งไฟ อำเภอท่าตะเกียบ หนึ่งเดียวของภาคตะวันออกตราบจนทุกวันนี้
ในการจัดงานจะจัดขึ้น 2 วัน ในวันแรกจะทำพิธีบวงสรวงศาลปู่ตา มีการแข่งขันขบวนแห่บั้งไฟ ที่มีผู้ฟ้อนรำอย่างน้อย 20 คนขึ้นไป ทุกขบวนจะมีการตกแต่งบั้งไฟสวยงามอลังการ วันต่อมาจะมีการแข่งขันจุดบั้งไฟขึ้นสูง ซึ่งมีคนส่งเข้าแข่งขันเป็นจำนวนมาก เริ่มจุดตั้งแต่ 09.00 - 19.00 น. ผู้ชนะการแข่งทุกรายการจะได้รับเงินรางวัลและถ้วยรางวัล ในการจัดงานทุกครั้งจะมีผู้เข้าร่วมงานจากทั่วทุกสารทิศ เป็นจำนวนมาก
การจัดงานมีขบวนรำเซิ้ง ขบวนบั้งไฟ ซึ่งจะแสดงถึงศิลปวัฒนธรรม ความคิดสร้างสรรค์อย่างหลากหลาย โดยแบ่งเป็นจากโรงเรียนต่างๆ แต่ละหมู่บ้าน และ กศน.อำเภอท่าตะเกียบ ก็ได้มีส่วนร่วมทุกปี ในขบวนแห่จะได้เห็นรอยยิ้มของชาวบ้านที่มีความสุขตามประเพณีอันดีงามปีละครั้งเดียว ในการจัดงานยังมีการจัดตกแต่งประดับรถบั้งไฟได้ตรงตามศิลปะชาวอีสานมีความสวยงาม รวมถึงการรำเซิ้งจะมีขบวนของโรงเรียนต่างๆ ในแต่ละปีจะมีไม่ต่ำกว่า 10 ขบวน จะได้เห็นการแสดงออกของหนูๆ น้องๆ นักเรียน ที่มีความพร้อมเพียงในการแสดงออกถึงศิลปะชาวอีสานรำเซิ้ง แต่ละขบวนมีนางรำ 20 - 30 คน และในแต่ละโรงเรียนก็จะมีการจัดขบวนบั้งไฟที่สวยงาม เป็นลวดลายไทยงามวิจิตร นำแห่แหนด้วยขบวน บนขบวนรถ บางครั้งจะเป็นธิดาบั้งไฟโก้ เทพบุตรเทพธิดาตัวน้อยๆ หรือเรื่องราวจำลองจากนิยายพื้นบ้านปรัมปรา เช่น เรื่องท้าวผาแดง นางไอ่ นอกจากนี้ที่จะขาดไม่ได้ก็คือขบวนรีวิวประเภทเนื้อหาสาระและตลกขบขันต่าง ๆ ทำให้ชาวบ้านและผู้ร่วมงาน ที่เดินทางมาได้รับความบันเทิงสนุกสนาน ความสามัคคี ทั้งในระดับครอบครัว ชุมชน และนักท่องเที่ยว   
การสืบสานประเพณีบุญบั้งไฟ เป็นการสืบสานงานประเพณีจากรุ่นสู่รุ่น และได้รับการส่งเสริมสนับสนุนให้เป็นเทศกาลเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดฉะเชิงเทรา และภาคตะวันออก ส่งผลให้เกิดการส่งเสริมอาชีพสร้างรายได้ให้ชาวบ้านและท้องถิ่นอีกด้วย
ตำแหน่งที่ตั้ง จัดงาน หมู่ที่ 2 บ้านหนองคอก 
ตำบลคลองตะเกรา อำเภอท่าตะเกียบ จังหวัดฉะเชิงเทรา 
การเดินทางใช้เส้นทาง ฉะเชิงเทรา - ท่าตะเกียบ ขับถึงสี่แยก อำเภอพนมสารคาม ให้เลี้ยวขวามาอำเภอสนามชัยเขต ระยะทาง 14 กม. จาก อำเภอสนามชันเขต  วิ่งตรงมา 1 กม.ให้เลี้ยวขวา ไปอีก 35 กม.เดินทางผ่านหน้าที่ว่าการอำเภอท่าตะเกียบ ไปอีก 14 กม. ก็จะถึงบ้านหนองคอก

ข้อมูลเนื้อหา เรื่องราว เขียนโดย นายสงวน มูลวงศ์
ภาพถ่าย/ภาพประกอบ โดยนายสงวน มูลวงศ์ 
ข้อมูล TKP อ้างอิง https://424chachoengsao.blogspot.com/2020/08/blog-post_517.html





Share this:

Post a Comment

ข้อคิดเห็นจากเครือข่าย TKP

 
Copyright © 2018 Thailand Knowledge Portal. Designed by OddThemes > Developed by mediathailand