TKP HEADLINE

ศูนย์เรียนรู้ การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรกร (ศพก.) เครือข่ายตำบลเวียงคำ

ศูนย์เรียนรู้ การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรกร (ศพก.) เครือข่ายตำบลเวียงคำ

อำเภอกุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี

(นางนิชากรณ์   เลิศฤทธิ์)



  ศูนย์เรียนรู้ การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรกร (ศพก.) เครือข่ายตำบลเวียงคำ อำเภอกุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี  ตั้งอยู่ที่ บ้านเลขที่ ๘๘ บ้านสวนมอนใต้ หมู่ ๑๓ ตำบลเวียงคำ อำเภอกุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี เป็นพื้นที่ของ นางนิชากรณ์  เลิศฤทธิ์ ประกอบอาชีพเกษตรกรและทุกคนในครอบครัวก็ประกอบอาชีพเกษตรกรเป็นหลัก  ก่อนหน้านี้ได้เข้าทำงานประจำในบริษัทเอกชนตำแหน่งจัดซื้อ นำเข้า –ส่งออก ในตำแหน่ง ผู้บริหารอาวุโส ดูแลงานจัดซื้อ ดูแลงานธุรการ ทั้งหมดของบริษัท เกิดความอิ่มตัวและเบื่อความวุ่นวายในเมือง ต้องการกลับมาใช้ชีวิตที่บ้าน ระหว่างนั้นได้ไปศึกษาเล่าเรียนหาความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับการทำเกษตรอินทรีย์ ศึกษาดูงานตามศูนย์และโครงการต่างๆ และได้รับแรงบันดาลใจจากพ่อหลวงในรัชกาลที่ ๙ เกี่ยวกับเรื่องปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ยิ่งทำให้มั่นใจ มุ่งมั่นที่จะดำเนินตามรอยพ่อพร้อมกับความรู้ที่เก็บเกี่ยวมาเต็มสมองพร้อมปฏิบัติลงมือทำ เปิดไฟเดินหน้าเต็มที่ จึงได้ลาออกจากงานประจำ หันหน้ามาสู่อาชีพใหม่ เกษตรกร โดยเริ่มต้นจากเลี้ยงไส้เดือนเพื่อทำปุ๋ยบำรุงพืช ผสมดินปลูก รองก้นหลุมก่อนปลูกปลูกทุกอย่างที่กิน กินทุกอย่างที่ปลูก 

การเลี้ยงไส้เดือนฟาร์มของเราเริ่มต้นจากซื้อชุดทดลองมาเลี้ยงจำนวน ๒ ชุด ลงทุนราคา  ๑,๐๐๐ บาท จะเก็บผลผลิตและขยายพันธุ์ ทุก ๓๐ - ๔๕ วัน ทำให้ลดต้นทุนการซื้อปุ๋ยลงได้ถึง ๕๐% มีเงินออมมากขึ้น นอกจากทำปุ๋ยใช้เองแล้วทางฟาร์มเรายังได้จำหน่ายพ่อพันธุ์แม่ทั้งพันธุ์ และมูลไส้เดือนเป็นรายได้เสริมอีกช่องทาง



ความพอประมาณ

ใช้จ่ายอย่างพอเพียง เริ่มจากทดลองและศึกษา ปัญหา วิธีการแก้ไข สู่การพัฒนาให้ยั่งยืน เช่น การเลี้ยงไส้เดือน เราเริ่มต้นจากชุดทดลองเลี้ยง ๒ ชุด พร้อมศึกษา สังเกต อาหารเสริม การทำเบดดิ้ง สภาพอากาศที่เหมาะสม และคิดค้นพร้อมทดลองการนำอุปกรณ์เครื่องมือคัดแยกปุ๋ยมูลไส้เดือนและตัวไส้เดือน เพื่อลดระยะเวลาการทำงานให้เร็วขึ้น ส่วนผลลัพธ์คือปุ๋ยมูลไส้เดือนที่ได้เราก็นำไป บำรุงพืชผักในสวน ที่เหลือก็แจกและจำหน่ายให้เพื่อนบ้านทดลองใช้ ไม่ต้องเสียเงินไปซื้อปุ๋ยเคมี ซื้ออาหาร(ผัก) ยังได้อาหารปลอดภัยไว้บริโภคในครอบครัวและในชุมชน


ความมีเหตุผล  

การทำเกษตรแบบอินทรีย์ จะต้องไม่ใช้สารเคมี ดังนั้นทางเราจึงหาปุ๋ยอินทรีย์ที่มีคุณภาพดี ต้นทุนต่ำมาแทน ซึ่งการเลี้ยงไส้เดือนสำหรับทำปุ๋ย จึงตอบโจทย์ในสิ่งที่เราต้องการ นอกจากใช้บำรุงพืช ผัก ต้นไม้แล้ว ยังสามารถ นำมาผสมเป็นดินเพาะปลูก ใช้รองก้นหลุมก่อนปลูกได้ด้วย 


การมีภูมิคุ้มกันที่ดี  

จากการเลี้ยงไส้เดือนเพื่อทำปุ๋ย ทำให้เราได้กินอาหารปลอดภัยที่มีประโยชน์มาก ไม่เจ็บป่วย มีภูมิคุ้มกันที่ดี ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในครัวเรือนลง ไม่ว่าจะเป็นค่าปุ๋ย ค่าอาหาร ที่สำคัญที่สุดดินมีความอุดมสมบูรณ์มากขึ้น การใช้ชีวิตตามหลักปรัชญาพอเพียงทำให้เรามีอยู่มีกิน                     

ความรอบรู้ 

  มีความรู้ ไม่ว่าจะได้จากการเรียน การศึกษาค้นคว้าจากเทคโนโลยี การอบรม การศึกษาดูงาน จากการปฏิบัติจริง แล้วนำความรู้ที่ได้มาพัฒนาตนเองให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ความมีคุณธรรม  

สำหรับอาชีพเกษตรกรยิ่งถ้าเป็นเกษตรอินทรีย์แล้วเราจะต้องมีคุณธรรมในด้านความซื่อสัตย์ ไม่เอาเปรียบผู้บริโภค ขายสินค้าที่มีคุณภาพ ความอดทน และความอดกลั้น 

ผลที่ได้จากการดำเนินชีวิตตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง 

อยู่ดีกินดี ได้กินอาหารปลอดภัยมีประโยชน์ สุขภาพแข็งแรง มีภูมิต้านทานโรคมากขึ้น ประหยัดค่าใช้จ่ายในครัวเรือนสามารถพึ่งพาตนเอง และยังส่งผลให้คนในชุมชนได้บริโภคอาหารที่ปลอดภัย ช่วยลดภาวะโลกร้อน ช่วยลดการจัดการขยะ ปรับสภาพดินให้มีธาตุอาหารและเกิดความอุดมสมบูรณ์มากขึ้น

ความสำเร็จหรือความภูมิใจในการประกอบอาชีพและดำเนินชีวิตตามที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน 

ครอบครัวมีอยู่มีกินได้บริโภคอาหารที่ปลอดภัย เหลือกินก็แบ่งปันผู้อื่นในชุมชน ถ้าเหลือกินเหลือแจกก็จำหน่ายช่วยเพิ่มรายได้ให้กับครอบครัว ที่สำคัญที่สุดดินมีความสมบูรณ์มากขึ้น ทำให้พืชผักเจริญเติบโตงอกงาม ลดค่าใช้จ่ายการซื้อปุ๋ยเคมี ลดค่าใช้จ่ายสำหรับซื้ออาหาร มีเงินออมมากขึ้น 


ตำแหน่งที่ตั้ง : บ้านเลขที่ ๘๘ หมู่ ๑๓ บ้านสวนมอนใต้ ตำบลเวียงคำ อำเภอกุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี รหัสไปรษณีย์ ๔๑๑๑๐

การเดินทาง : ใช้เส้นทางบ้านท่าหนองเทา – บ้านสวนมอนใต้ เมื่อถึงสามแยกปากทางเข้าหมู่บ้านสวนมอนให้เลี้ยวขวาเข้าหมู่บ้านไปประมาณ ๑๐๐ เมตรจะถึงทางเลี้ยวทางด้านขวาเลี้ยวเข้าไปประมาณ ๒๐๐ เมตรแล้วเลี้ยวซ้ายก็จะถึงแหล่งเรียนรู้ การเลี้ยงไส้เดือน นางนิชากรณ์  เลิศฤทธิ์


ข้อมูลเนื้อหา เรื่องราว เขียนโดย นางสาวอารียา  บุญแนะ

ภาพถ่าย/ภาพประกอบ โดย นางสาวอารียา  บุญแนะ

ข้อมูล TKP อ้างอิง https://341udonthani.blogspot.com/2022/08/blog-post_57.html



Share this:

Post a Comment

ข้อคิดเห็นจากเครือข่าย TKP

 
Copyright © 2018 Thailand Knowledge Portal. Designed by OddThemes > Developed by mediathailand