TKP HEADLINE

นายเลื่อน พรมวี: ภูมิปัญญาท้องถิ่น


นายเลื่อน พรมวี: ภูมิปัญญาท้องถิ่น

นายเลื่อน พรมวี เกิดวันที่ ๒๘ เดือน. ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๙๙ อายุ ๖๕ ปี อยู่บ้านเลขที่ ๑๖ หมู่ที่ ๙ ตำบลสระแก้วอำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช ประวัติการศึกษา สำเร็จการศึกษาระดับชั้นประถมศึกษาจาก โรงเรียนวัดยางงาม และระดับมัธยมศึกษาตอนต้น (ม.ศ.๓) จากโรงเรียนวัดเทวดาราม ตำบลท่าขึ้น อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช 

ประวัติครอบครัว บิดา นายกัน พรมวี มารดา นางจบ พรมวี คู่สมรส นางอุไรวรรณ (คงทน) พรมวี บุตร ๓ คน เป็นผู้จัดตั้งศูนย์เรียนรู้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เน้นการทำสวนแบบผสมผสานด้วยการทำเกษตรแบบอินทรีย์ชีวภาพการผลิตมังคุดในฤดูกาลและนอกฤดูกาล การเลี้ยงหมูคอนโดฯ ระบบการปลูกพืชแบบผสมผสาน การใช้เทคโนโลยีระบบน้ำแบบสปริงเกอร์การใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มาควบคุมโรคพืช การผลิตน้ำหมักชีวภาพ และการนำหลักวิชาการมาใช้ร่วมกับภูมิปัญญาชาวบ้าน จากการสัมภาษณ์ จุดเด่นหนึ่งของสวนนายเลื่อน พรมวีมีการการจดบันทึกข้อมูลเป็นลายลักษณ์อักษรที่ชัดเจน ที่เกี่ยวข้องกับการผลิตมังคุด เช่น องค์ความรู้ ต้นทุนการผลิต รายได้จากการการผลิต ราคาที่ขายได้ ตลอดจนการคำนวณผลตอบแทนที่ได้จากการขายผลผลิต เป็นที่สำคัญในการทำการเกษตร 

มังคุดท่าศาลามีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักทั้งในและต่างประเทศมีลักษณะที่โดดเด่น คือ มีรสชาติหวาน อมเปรี้ยว ถูกปากคนไทย ผลมีขนาดประมาณ 8 – 100 กรัมต่อผล 8 – 10 ผลต่อกิโลกรัม ผิวเรียบสีแดงอมส้ม ไม่มียางเนื้อในสีขาวไม่เป็นเนื้อแก้ว เหมาะต่อการส่งออก เป็นพืชเศรษฐกิจภายในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช 9 อำเภอ ได้แก่ อำเภอท่าศาลา อำเภอสิชล อำเภอนบพิตำ อำเภอพรหมคีรี อำเภอลานสกา อำเภอชะอวด อำเภอร่อนพิบูลย์ อำเภอเมือง และอำเภอพระพรหม อำเภอท่าศาลาจะปลูกมากที่ตำบลสระแก้ว และค่อนข้างจะปลูกเป็นส่วนมาก ผลผลิตมังคุดในฤดูกาล จะออกในช่วง กรกฎาคมและสิงหาคม แต่ราคาจะตกต่ำ ประมาณกิโลกรัมละ 30 – 50 บาท ดังนั้น การที่มีการผลิตมังคุดนอกฤดูกาลจึงเป็นปัจจัยที่ส่งเสริมให้เกษตรกรมีรายได้ที่เพิ่มขึ้นและราคาสูงขึ้นตามปัจจัยที่ตลาดต้องการมากกว่าผลผลิตมังคุดตามฤดูกาลที่ปกติ มังคุดนอกฤดูกาลจะมีราคาสูงกิโลกรัมละประมาณ 120 – 180 บาท ซึ่งจะออกสู่ตลาดประมาณ มกราคม – มีนาคม ทำให้มีเงินหมุนเวียนในระบบเป็นจำนวนมาก

ขั้นตอนการผลิตมังคุดนอกฤดู

ตอนที่ 1 : ตัดแต่งกิ่ง (เดือนกุมภาพันธ์) การเตรียมต้นมังคุดให้พร้อมในการออกดอกมีวิธีการ ดังนี้ 1. สังเกตดูใบของมังคุดจะต้องมีใบกว้างและหนาอยู่ในระยะเพสลาดแก่ 2. กวาดหญ้าบริเวณใต้ทรงพุ่มออกไว้นอกบริเวณทรงพุ่ม 3. ตัดแต่งกิ่งน้ำค้างภายในทรงพุ่มและปลายกิ่งให้สูงจากพื้นดิน 1.50 ถึง 2.00 เมตร 4. เปิดยอดสุดออกเพื่อให้แสงเข้าภายในทรงพุ่มได้ ซึ่งจะทำให้ต้นมีความแข็งแรง ผลผลิตออกมามีผิวลายน้อย ผลผลิตจะโตกว่าต้นที่ไม่เปิดยอด แลมังคุดจะออกดอกก่อน
ขั้นตอนที่ 2 : เปิดตาออก (เดือนมิถุนายน-กรกฎาคม) ตรวจดูความพร้อมของต้นและใบมังคุดว่ามีความพร้อมที่จะออกดอกหรือไม่ ซึ่งมังคุดต้นที่พร้อมจะออกดอกจะต้องมีลักษณะ 
ดังนี้ 1. ใบมังคุดใบหนาและเขียวกว้าง 
2. สีใบเหมือนกันทั่วต้นและมีปลายใบเหลือง 
3. ให้น้ำติดต่อกัน 3 วัน จึงใส่ปุ๋ย
4. กวาดใบออกแล้วใส่ปุ๋ยเร่ง สูตร 8-24-24 / 9-24-24 / 12-24-12 ต้นละ 1 กิโลกรัม
5. ให้ปุ๋ยทางใบ โดยการฉีดพ่นทุก 7-15 วัน / ครั้ง ให้ชุ่มทั้งรอบทรงพุ่ม
ขั้นตอนที่ 3 : บำรุงดอกและลูก ป้องกันเพลี้ยไฟไรแดง ให้ตรวจดูต้นมังคุด ถ้าต้นพร้อมออกดอกจะมีลักษณะ ดังนี้ 1. งดน้ำและปุ๋ย 2. ใบร่วงใต้โคนถึง 70 เปอร์เซ็นต์ หรือยัง 3. กิ่งมังคุดเหี่ยวถึงปล้องที่ 2 หรือยัง 4. เมื่อปล้องที่ 2 เหี่ยวมองเห็นชัดเจนแล้ว ให้เราให้น้ำ 50 เปอร์เซ็นต์ 5. สังเกตการณ์แตกตาดอกว่ามีจำนวนเท่าไหร่ ถ้าไม่ได้ 20 เปอร์เซ็นต์ ให้เรางดน้ำต่อไปอีก 6. เมื่อดอกออกถึง 30-40 เปอร์เซ็นต์ ให้น้ำสม่ำเสมอ วันเว้น 7. ให้สังเกตดูว่าดอกที่ออกมาว่ามียางหรือไม่ ถ้ายางออกรอบต้นเกิน10 ดอก ให้เราใช้ยาเลย 8. ให้สังเกตลูกหากลูกมีขนาดเท่ากับด้ามของมีดพร้า ให้ใส่ปุ๋ยบำรุง สูตร 13-13-21
สรุปตารางการผลิตมังคุดนอกฤดู
1. เดือนธันวาคม-เดือนมกราคม เป็นช่วงของการเก็บเกี่ยวผลผลิตนอกฤดู
2. เดือนกุมภาพันธ์ ให้ตัดแต่งกิ่งของมังคุดใส่ปุ๋ยและให้น้ำมากประมาณ 60 % โดยใช้ปุ๋ยชีวภาพควบคู่กับปุ๋ยเคมีที่มีเลขตัวหน้าสูง เพื่อเร่งใบชุดที่ 1 ชักนำให้แตกใบอ่อนหลังเก็บเกี่ยว 2 อาทิตย์
3. เดือนมีนาคม ให้ฉีดยาป้องกันหนอนกัดกินใบและเพลี้ยไฟไรแดง
4. เดือนเมษายน ใบชุดที่ 2 มีลักษณะเป็นเพสลาด ในช่วงนี้ให้น้ำ ใส่ปุ๋ยเร่ง นับเวลาหลังเก็บเกี่ยว 14-16 สัปดาห์ หรือ 100 วันนั่นเอง จากนั้นให้งดน้ำ 9 สัปดาห์หรือ 2 เดือนครึ่ง
5. เดือนมิถุนายน เมื่องดให้น้ำ 9 สัปดาห์ จะสังเกตเห็นลักษณะของมังคุดที่แล้งน้ำจนกิ่งมังคุด ปล้องที่ 2 เหี่ยว ถ้าจะเห็นให้ชัดเจนให้ดูที่ใบปลายสุดมีอาการปลายใบตก แล้วให้น้ำครั้งแรก ประมาณ 30-40 มิลลิเมตร พร้อมกับฉีดพ่นปุ๋ยเร่งให้ชุ่มทั้งต้น ถ้าหากมังคุดยังไม่ออกดอกให้น้ำอีกครั้ง ห่าง 7-10 วัน จำนวนน้ำที่ให้ประมาณ 17.5-20 มิลลิลิตร
6. เดือนกรกฎาคมมังคุดจะออกดอก

7. ในช่วงเดือนสิงหาคมถึงเดือนพฤศจิกายน ให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ
8. ประมาณต้นเดือนกันยายนใส่ปุ๋ยสูตรเสมอเพื่อบำรุงต้นและผล
9. เดือนกันยายนให้ใส่ปุ๋ยที่มีตัวเลขหลังสูงเช่น 13-13-21 เพื่อบำรุงผลมังคุด
10. เมื่อเข้าเดือนธันวาคม มีนาคม ก็สามารถเก็บเกี่ยวมังคุดขายได้ ซึ่งรวมระยะเวลาตั้งแต่มังคุดเริ่มออกดอกจนถึงเก็บเกี่ยวผลผลิตใช้ระยะเวลาประมาณ 6 เดือน ศูนย์เรียนรู้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง แห่งนี้ เป็นสถานที่เรียนรู้ของคนในชุมชนประชาชนที่มาจากต่างอำเภอ ต่างจังหวัด และนักเรียนกศน.ตำบลสระแก้ว เข้าไปศึกษาความรู้จากภูมิปัญญาการเกษตรผสมผสาน /การทำมังคุดนอกฤดูเพื่อเชื่อมโยงเนื้อหา ในรายวิชาที่เกี่ยวข้องกับการจัดการเรียนการสอน รายวิชาเรียนรู้กับภูมิปัญญาท้องถิ่น รายวิชาหลักการเกษตรอินทรีย์ ของนักศึกษากศน. เรียนรู้ในการทำมังคุดนอกฤดูกาล

จากการศึกษา นักศึกษา ได้เรียนรู้เรื่องการปลูกมังคุดนอกฤดู การนำหลักการเกษตรอินทรีย์มาใช้ 
นักศึกษาที่อยู่ในพื้นที่ทำการเกษตร สามารถนำมาใช้กับการทำสวนมังคุดของตนเองได้
ผู้ให้ข้อมูล : นายเลื่อน พรหมวี ผู้สัมภาษณ์ : นางสาวสุภาณี มะหมี


Share this:

Post a Comment

ข้อคิดเห็นจากเครือข่าย TKP

 
Copyright © 2018 Thailand Knowledge Portal. Designed by OddThemes > Developed by mediathailand