TKP HEADLINE

ประเพณีวัฒนธรรมการทำนา

 

การทำนาวิถีชีวิตคนในอดีตกับปัจจุบัน


ปัจจุบันอาชีพหลักของคนไทยคือเกษตรกรรม ราษฎรส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร การทำอาชีพเกษตรกรรมมีมาช้านาน ตั้งแต่บรรพบุรุษ ซึ่งอาหารหลักของคนไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน คนไทยนิยมบริโภคข้าวเป็นอาหารหลัก วิถีช่วิตของคนไทย คือ การเลี้ยงสัตว์ ปลูกข้าว ซึ่งในครัวเรือนช่วยกันทำนาโดยใช้ควายไถนา 

วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของ ชุมชนชาวอีสานซึ่งเป็นระบบนิเวศวิทยาแบบพื้นบ้านที่มีการผลิตแบบยังชีพดั้งเดิม เฮ็ดอยู่ เฮ็ดกินได้ไม่ลำบาก เพราะอาหารธรรมชาติมีเพียงพอต่อการดำรงชีพ แทบไม่ต้องพึ่งพาจากภายนอกเลย ดังคำพูดของผู้เฒ่าผู้แก่ที่กล่าวว่า บ้านเฮา กินบ่บก จกบ่ลงแปลความหมายได้ว่า มีความอุดมสมบูรณ์ของข้าวปลาอาหาร กินเท่าไรก็ไม่หมด และในยุ้งฉางแน่นไปด้วยข้าว ส่วนการแบ่งพื้นที่ในการทำกินเป็น 3 ส่วนใหญ่ ๆ คือ ที่ราบลุ่มทำนา ที่หัวไร่ปลายนาและที่ป่าดงธรรมชาติ ตลอดจนเครื่องมือเครื่องใช้ปัจจัยสี่ในชีวิตประจำวัน ล้วนมาจากภูมิปัญญาในการจัดการและจัดสรรคุณค่าต่าง ๆ จากทรัพยากร ธรรมชาติแวดล้อมมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้อย่างสมดุล ในขณะที่ขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมหลายอย่างของชาวอีสานก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยเสริมสร้างความรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในหมู่ชาวอีสาน และช่วยรักษาสภาพของสังคมนี้ให้คงอยู่ อาทิ การถือปฏิบัติตามฮีตสิบสองคองสิบสี่ ที่เป็นโครงสร้างทางความคิดความเชื่อ และเป็นพลังในการหล่อหลอมผูกพันให้คนอีสานมีสำนึกแน่นแฟ้นอยู่กับสังคมเครือญาติและจำเริญรอยตามวิถีชีวิตชาวนาตามฤดูกาลของธรรมชาติในรอบปี การเคารพนับถือผีต่าง ๆ เพื่อบูชาและรักษาสภาพธรรมชาติในหมู่บ้าน และประเพณีเกี่ยวกับการดำรงชีวิตที่เป็นเอกลักษณ์ของชาวอีสาน เช่น การขอฝนเพื่อทำการเกษตร


การเกษตรของชาวบ้านในอดีตจะทำการเกษตรแบบธรรมชาติ ซึ่งจะเป็นการทำนาข้าวเสียเป็นส่วนใหญ่ การทำนาอาศัยน้ำฝน และใช้แรงงานควายและแรงงานคนเป็นหลักมีการเตรียมการและขั้นตอน ดังนี้
เตรียมทุน ทุนที่ต้องลงในการทำการเกษตรในอดีตนั้นมีไม่มากนัก เพราะงานส่วนใหญ่จะใช้แรงตนเองและแรงสัตว์เป็นหลัก แหล่งเงินทุนจึงไม่ค่อยจะจำเป็นมากนัก แต่เมื่อมีการสามารถกู้ยืม ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธกส.) ได้ เกษตรกรก็เริ่มกู้ยืมเงินมาใช้ ส่วนหนึ่งลงทุนในการทำการเกษตรแต่เป็นส่วนน้อยเพราะค่าใช้จ่ายไม่สูง ที่เหลือก็จะนำไปใช้ในการอื่น

เตรียมพันธุ์ข้าว เมื่อใกล้จะเข้าหน้าฝนชาวบ้านจะเตรียมหาเมล็ดพันธุ์ข้าว หากไม่ได้เก็บไว้เองก็จะไปขอกับเพื่อนบ้านหรือขอจากหมู่บ้านใกล้เคียง ข้าวที่ได้มาจะตั้งชื่อตามแหล่งที่ได้พันธุ์ข้าวมา


เตรียมควาย ควายที่เป็นแรงงานหลักของการทำนา ตัวที่โตพอจะใช้งานได้จะมีการฝึก เพื่อจะสามารถบังคับควายได้ และไถนาได้ 


เตรียมไถ ไถเป็นอุปกรณ์สำคัญอีกชิ้นหนึ่งในการทำนาของเกษตรกรบ้านหัวถนน ไถในอดีตจะทำด้วยไม้ จะมีเพียงผานไถ ปะขางไถ ขอสำหรับเกาะผอง (ท่อนไม้ที่ไว้ผูกเชือกต่อจากแอกที่คอควาย) เท่านั้นจะเป็นเหล็ก ไม้ที่ใช้ทำจะเป็นไม้เนื้อแข็ง เช่น ไม้ประดู่ ไม้มะค่า ตัวไถจะเป็นไม้สามชิ้น ได้แก่ คันไถ หางไถ และหัวหมู ประกอบกันด้วยการเข้าลิ่ม และส่วนที่ผูกติดกับควายอีกสามชิ้น ส่วนประกอบของไถ มีดังนี้ หางไถ คันไถ หัวหมู ผองไถ แอก ผองคอควาย เตรียมคราด เตรียมเชือก เตรียมกล้าข้าว ทำหุ่นไล่กา เตรียมแปลงนาดำ การดำนาการใส่ปุ๋ย  เตรียมลาน การเกี่ยวข้าว การตีข้าว การนวดข้าว การเก็บข้าว การเก็บฟางการสีข้าว

การทำนาในอดีตกับปัจจุบันแตกต่างกันในการใช้แรงงานและเครื่องมือในการทำนาจึงกล่าวได้ว่าวิถีชีวิตของขุมชนหมู่บ้านไทยโดยทั่วไป มีการประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นพื้นฐาน โดยมีครอบครัวเป็นหน่วยการผลิต การทำนาแรงงานคน มีแรงงานจากสมาชิกในครอบครัว ไม่ต้องจ้าง อาศัยวัตถุดิบที่มีในชุมชนท้องถิ่น และอยู่อย่างพึ่งพิงกับธรรมชาติ โดยทั่วไปชาวบ้านจะคิดถึงการผลิตเพื่อให้สามารถเลี้ยงตนเองและครอบครัวได้ก่อนหากมีเหลือจากการบริโภคจึงขาย หรือแลกเปลี่ยนกันภายในชุมชนไม่ได้คิดถึงเรื่องเงินมากนัก ซึ่งลักษณะวิถีชีวิตแบบนี้สะท้อนให้เห็นถึงภูมิปัญญาท้องถิ่นของคนในชุมชน การพึ่งพาตนเองของชาวบ้าน การพึ่งพิงกันเองในชุมชน และการพึ่งพิงอิงกันกับสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ



การทำนาของเกษตรกรตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ยังเป็นอาชีพที่เกษตรกรยังไม่ภาคภูมิใจในอาชีพของตนเอง การทำนายังทำกันแบบขาดการพัฒนาความรู้ การให้การสนับสนุนจากภาครัฐไม่ต่อเนื่องและไม่แสดงผลชัดเจนทำให้เกษตรกรเกิดความรู้สึกขาดที่พึ่ง ยิ่งเงินทุนที่ใช้ในการประกอบอาชีพทำนาสูงขึ้น และต้องใช้จำนวนมากขึ้น ผลผลิตที่ได้ไม่เคยพอเพียงกับรายจ่าย ทำให้เกษตรกรเบื่อหน่ายต่อการทำนา ที่ยังทำกันอยู่ส่วนใหญ่เพราะไม่มีอาชีพอื่น เทคโนโลยีใหม่ที่เกษตรกรใช้ในการทำนา แม้จะทำให้เกษตรได้รับความสะดวกมากขึ้น แต่ก็ต้องจ่ายค่าใช้จ่ายเพิ่มสูงขึ้น รายได้ที่ได้สูงขึ้นก็เป็นเพียงแค่จำนวนเงินมากขึ้น แต่ข้าวของก็ราคาสูงขึ้นไปตามรายได้ วิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปจากอยู่อย่างพอเพียงในอดีตกลายเป็นดิ้นรน เอาเงินเป็นมาตรฐานในการตัดสินความเจริญของแต่ละคนทำให้เกิดการขาดความสามัคคีในหมู่บ้าน มีการคอร์รัปชันตั้งแต่ระดับล่างไปจนถึงระดับผู้บริหาร ประชาชนในหมู่บ้านแบ่งเป็นพรรคพวกไม่ให้ความร่วมมือซึ่งกันและกัน คนที่ด้อยโอกาสส่วนใหญ่จะไม่ขวนขวายกลับเป็นคนติดเหล้า เป็นคนเกียจคร้าน แม้คนที่เคยมีโอกาสก็หลงไปกับการพัฒนาที่รวดเร็ว ต้องการมีรถมอเตอร์ไซค์ มีรถโดยไม่มีความจำเป็นในการประกอบอาชีพรองรับ จึงขายที่ดินทำกินซื้อสิ่งอำนวยความสะดวกเหล่านี้แล้วบริหารไม่ได้กลายเป็นหนี้สิน หมดที่ทำกิน โอกาสที่จะให้เกษตรกรได้รับการพัฒนาต้องอาศัยการสนับสนุนอย่างจริงจัง ทั้งทางด้านการศึกษาและเงินทุนจากภาครัฐ การศึกษาควรเป็นการศึกษาที่ผู้ศึกษาสามารถนำกลับไปใช้ในท้องถิ่นได้ เงินสนับสนุนจากภาครัฐควรจะเป็นเงินให้ที่มีดอกเบี้ยต่ำหรือไม่มีดอกเบี้ยเน้นไปเพื่อให้เกษตรกรเกิดความภาคภูมิใจในอาชีพตน สามารถเลี้ยงตนเองได้ ไม่เน้นการส่งเสริมการวัดค่าความสุขของประชาชนด้วยเงินรายได้ ปัญหาสำคัญของเกษตรกร คือ ปัญหาความยากจน กับการขาดการศึกษา หากสามารถพัฒนาได้อย่างรอบครอบครบวงจรจนทำให้เกษตรกรเกิดวามภาคภูมิใจในอาชีพตน สามารถกำหนดราคาสินค้าของตนได้ เลี้ยงตัวเองได้ สังคมแห่งความสงบสุขเหมือนอย่างที่เคยมีมาในอดีตก็คงจะเกิดขึ้นได้ง่าย

 เขียนเรียบเรียงโดย นายรัฐพล พันธุโพธิ์
กศน.อำเภอกุดรัง จังหวัดมหาสารคาม  ห้องเรียน 306



อ้างอิง
สำนักข่าวไทยแลนด์พลัส ออนไลน์. (2022) .วิถีชีวิตชุมชน วิถีเกษตรกรรม, สืบค้นเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2565. จาก https://www.thailandplus.tv/archives/1777
การศึกษาในรายวิชา ง32201 เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร 3. (2022)  การทำนา, สืบค้นเมื่อวันที่ 
16 กรกฎาคม 2565. จาก https://sites.google.com/site/pimonmart44367/



Share this:

Post a Comment

ข้อคิดเห็นจากเครือข่าย TKP

 
Copyright © 2018 Thailand Knowledge Portal. Designed by OddThemes > Developed by mediathailand