TKP HEADLINE

“ผ้าฝ้ายหมักโคลน” จากดินสู่ผืนผ้า ภูมิปัญญาชาวบ้าน “บ้านโนนศิลา”

 “ผ้าฝ้ายหมักโคลน” จากดินสู่ผืนผ้า ภูมิปัญญาชาวบ้าน “บ้านโนนศิลา”

จากเส้นฝ้าย  ไหมย้อย พร้อมกี่หูก     นำมาผูก เส้นพุ่งยืน เป็นผืนผ้า

ก่อกำเนิดผ้าหมักโคลนโนนศิลา       สวยงามตาเอกลักษณ์ไทยน่าชื่นชม



ประเภทของภูมิปัญญา

  การประกอบอาชีพ

ประวัติข้อมูลส่วนตัวของภูมิปัญญา

นางอ่อนศรี จันทร์ทา
เกิดวันที่ 12 เมษายน 2503
อยู่บ้านเลขที่ 79 หมู่ที่ 1 ต.โนนศิลา อ.ปากคาด จ.บึงกาฬ  

ประวัติความเป็นมาของภูมิปัญญา 

การทอผ้านับเป็นวัฒนธรรมของชาวอีสานที่มีมาแต่อดีต ที่นอกจากประโยชน์ใช้สอยด้านเครื่องนุ่งห่มของสมาชิกในครอบครัวแล้ว ผ้าทอยังสะท้อนถึงวัฒนธรรมประเพณีที่งดงามของชาวอีสาน และยังคงเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณค่าและจำเป็นสำหรับ ครัวเรือนในชนบท 

การทอผ้าฝ้ายของบ้านโนนศิลา มีมาตั้งแต่รุ่น ปู่ ย่า ตา ยาย เป็นการสืบทอดภูมิปัญญาในการถักทอเครื่องนุ่งห่ม เพื่อใช้ในครัวเรือน ใช้ช่วงเวลาว่างหลังฤดูทำนาทำสวน รวมตัวกันตั้งกลุ่มทอผ้าหมักโคลนขึ้นมา โดยทุกขั้นตอนการทอจะทำด้วยมือทั้งหมด และจุดเริ่มต้นของภูมิปัญญานี้ เกิดขึ้นจากการสังเกตของชาวบ้านว่า เสื้อผ้าที่เปื้อนดินโคลนเมื่อซักแล้ว ได้สังเกตเห็นว่าเสื้อผ้าในส่วนที่เปื้อนดินโคลนนั้น จะซักออกค่อนข้างยาก และผ้ามีความนิ่มมากขึ้น กรรมวิธีการทำผ้าหมักโคลน จึงถือกำเนิดขึ้น และกลายมาเป็นภูมิปัญญาพื้นบ้านจนถึงปัจจุบัน



วิธีการสืบทอดทอดภูมิปัญญาท้องถิ่น 

การสืบทอดภูมิปัญญาการทอผ้าฝ้ายหมักโคลนบ้านโนนศิลา เกิดจาการถ่ายทอดความรู้ ภูมิปัญญาจากคน รุ่นหนึ่ง สู่คนรุ่นหลัง โดยผ่านการบอกเล่าและปฏิบัติสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน 

กระบวนการผลิต“ผ้าฝ้ายหมักโคลนบ้านโนนศิลา”

ขั้นตอนการทำผ้าหมักโคลนก็ไม่ได้ยุ่งยากอะไร เพียงแต่จะมีหลายขั้นตอนเท่านั้น ต้องใช้ความอดทนในการทำ ดังนี้

การการย้อมสี

เริ่มด้วยการย้อมเส้นฝ้ายสีขาวให้เป็นสีตามต้องการ ซึ่งการย้อมสีผ้า ของบ้านโนนศิลาจะใช้สีที่มาจากเปลือกไม้ตามธรรมชาติหลากหลายชนิด ซึ่งจะให้สีที่แตกต่างกันไปตามสีเปลือกไม้ชนิดนั้น ๆ เปลือกไม้ที่นำมาใช้ ได้แก่

  • เปลือกประดู่ เมื่อนำมาย้อม จะได้เส้นใยสีแดงอมน้ำตาล เมื่อหมักโคลนจะได้สีน้ำตาล
  • เปลือกนนทรี เมื่อนำมาย้อม จะได้เส้นใยสีน้ำตาลแดง เมื่อหมักโคลนจะได้สีเทา
  • เปลือกมะม่วง เมื่อน้ำมาย้อม จะได้เส้นใยสีเหลือง เมื่อหมักโคลนจะได้สีเขียว 
  • ผลมะเกลือ เมื่อนำมาย้อม จะได้เส้นใยสีเทา เมื่อหมักหมักโคลน จะได้สีเทาที่เข้มขึ้น
  • นำเส้นฝ้ายมาย้อมเปลือกไม้ แช่ทิ้งไว้ประมาณ 1 คืน เพื่อให้ได้สีสวย ติดทน และสวยงาม

การหมักโคลน

นำโคลนมากรองด้วยตะแกรงเพื่อให้ได้เนื้อโคลนล้วน ๆ นำไปผสมกับน้ำและเกลือ ตามความเหมาะสมคนให้เข้ากัน นำเส้นฝ้ายที่ได้จากการย้อมรองพื้นจากเปลือกไม้ต่าง ๆ ลงไปแช่ในโคลนที่เตรียมไว้ โดยใช้เวลาในการหมัก ประมาณ 3-6 ชั่วโมง  ซึ่งสีของเส้นใยจะอ่อนหรือเข้มขึ้นอยู่กับระยะเวลาในการหมัก เมื่อหมักได้ตามเวลาที่ต้องการแล้ว ก็จะนำผ้าขึ้นมาซักกับน้ำ และนำไปผึ่งให้แห้ง เมื่อแห้งแล้วนำมาซักน้ำอีกจนกว่าน้ำที่ซักจะใส เพื่อเป็นการยืนยันว่าสีไม่ตก และนำไปผึ่งให้แห้งอีกครั้งเสร็จสิ้นกระบวนการหมักโคลน ก็จะได้ผ้าฝ้ายที่สีสวย และนุ่มนิ่มน่าสัมผัส สามารถนำไปทอเป็นผืนผ้าตามลายที่ต้องการได้เลย









การทอผ้า

การทอผ้า ต้องอาศัยฝีมือและความชำนาญเป็นอย่างมาก เพราะการทำแต่ละขั้นตอนจะมีความแตกต่างกัน ความชำนาญจะมีผลกับกับความสวยงามของผ้าผืนนั้น ๆ จึงทำให้ผ้าทอแต่ละผืนมีเอกลักษณ์ความสวยงามแตกต่างกันไป 

จุดเด่นของผลิตภัณฑ์ 

1. มีลายเป็นเอกลักษณ์ของตนเอง “ลายศิลาครองรัก”
2. เนื้อผ้ามีลายสดใส สวยงาม สวมใส่สบาย และระบายความร้อนได้ดี
3. การทอผ้าจะทอด้วยมือ
4. สีไม่ตก เนื้อผ้าแน่น  คงทน สวยงาม ราคาถูก





แหล่งจำหน่าย

1. ณ สถานที่ตั้งบ้านนางอ่อนศรี จันทร์ทา บ้านโนนศิลา หมู่ที่ 1 ตำบลโนนศิลา อำเภอปากคาด จังหวัดบึงกาฬ
2. วางจำหน่ายตามงานแสดงสินค้า OTOP ของจังหวัดบึงกาฬ และหน่วยงานต่าง ๆ
3. การรับสั่งทำตามออเดอร์ (โทร.08 3348 5408)

สถานที่ตั้ง พิกัดของผู้เป็นภูมิปัญญา

บ้านนางอ่อนศรี จันทร์ทา ตั้งอยู่ที่บ้านโนนศิลา หมู่ที่ 1 ตำบลโนนศิลา อำเภอปากคาด จังหวัดบึงกาฬ


ข้อมูลเนื้อหา เรื่องราว เขียนโดย นางสาววรุณี  ท้าวดี ผู้เขียน

ภาพถ่าย/ภาพประกอบ โดย นางสาววรุณี ท้าวดี ผู้ถ่ายภาพ

ข้อมูล TKP อ้างอิง https://shorturl.asia/6tSqD


Share this:

Post a Comment

ข้อคิดเห็นจากเครือข่าย TKP

 
Copyright © 2018 Thailand Knowledge Portal. Designed by OddThemes > Developed by mediathailand