TKP HEADLINE

สืบสานศิลปวัฒนธรรม “การทอผ้าฝ้ายยกดอก”

สืบสานศิลปวัฒนธรรม “การทอผ้าฝ้ายยกดอก”


ประวัติบุคคล

นางสาวอรทัย วงศ์ฝั้น บ้านเลขที่ 85 หมู่ 1 บ้านทุ่งข้าวหางต.ตะเคียนปม อำเภอทุ่งหัวช้าง จังหวัดลำพูน 51160 เบอร์โทรศัพท์ 089-8554194

ประวัติความเป็นมาของหมู่บ้านทุ่งข้าวหาง

            หมู่บ้านทุ่งข้าวหาง ก่อตั้งมาประมาณ 300 กว่าปี โดยกลุ่มคนได้อพยพมาจากอำเภอแม่ทา เพื่อกระจายการทำมาหากิน จากหมู่บ้านเล็ก ๆ เพียงสิบกว่าหลังคาเรือน จนมาถึงปัจจุบัน มีจำนวน 167 ครัวเรือน ที่มาของชื่อหมู่บ้านมาจากการที่ฝนได้ตกลงมาอย่างหนักในหมู่บ้าน มีน้ำป่าไหลหลากลงมาจากลำห้วยแม่หางน้อยยาวเป็นหาง ตั้งแต่หัวบ้านจนถึงหางบ้าน น้ำมีสีทองไหลอาบลง
ทุ่งนาของหมู่บ้าน จึงได้ชื่อว่า “หมู่บ้านทุ่งข้าวหาง” 
            หมู่บ้านทุ่งข้าวหาง ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของอำเภอทุ่งหัวช้าง จังหวัดลำพูน ระยะทาง 12 กิโลเมตร ลักษณะภูมิประเทศส่วนใหญ่มีพื้นที่เป็นภูเขาและเนินเขาสลับล้อมรอบอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติขุนลี้ เขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าดอยผาเมือง มีพื้นที่ราบสำหรับการเพาะปลูก ประมาณ 1/4 ของพื้นที่ทั้งหมด ตลอดสองฝั่งของลำน้ำที่ไหลผ่าน ชุมชนแต่ละหมู่บ้านตั้งอยู่เรียงรายสองฝั่งของลำน้ำ เช่น แม่น้ำลี้ แม่น้ำแม่หาง และแม่น้ำสายเล็ก ๆ ซึ่งเป็นแหล่งน้ำในการทำการเกษตรของประชากร สภาพสังคมโดยรวมของหมู่บ้านทุ่งข้าวหาง เป็นสังคมเกษตรชนบท ทำอาชีพเกษตรกรรม มีความสงบเรียบร้อย และประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ เป็นชาวไทยยอง หรือคนยอง มีวิถีชีวิตที่เรียบง่ายตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน
            นอกจากนี้ ศิลปวัฒนธรรมและประเพณีของผู้คนที่นี่ก็มีความสำคัญไม่น้อย ยิ่งโดยเฉพาะในท่ามกลางสังคมเมืองที่เจริญรุดหน้าไปอย่างรวดเร็ว ชาวไทยยอง บ้านทุ่งข้าวหาง ยังคงอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมประเพณีที่สืบทอดกันมาแต่โบราณที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเอง

ความสำคัญของผลิตภัณฑ์

            การทอผ้าเป็นศิลปวัฒนธรรมที่มีมาช้านาน ผ้าทอที่มีชื่อเสียงและสร้างความภาคภูมิใจให้แก่คนจังหวัดลำพูน คือ “การทอผ้าฝ้ายยกดอก” ชุมชนตำบลบ้านปวง อำเภอทุ่งหัวช้าง ก็เป็นแหล่งผลิตผ้าฝ้ายยกดอกที่ขึ้นชื่อแห่งหนึ่งของจังหวัดลำพูน ได้มีการฝึกหัดชาวบ้านในตำบลใกล้เคียง ให้มีความรู้ และทักษะในการทอผ้าฝ้ายยกดอก เพื่อส่งเสริมเป็นอาชีพให้แก่ประชาชนในชุมชน 
            โดยชุมชนบ้านทุ่งข้าวหาง อำเภอทุ่งหัวช้าง จังหวัดลำพูน ได้สร้างช่างฝีมือทอผ้าฝ้ายยกดอก มีคุณภาพเป็นจำนวนมาก ดังนั้นชุมชนบ้านทุ่งข้าวหางที่เป็นชาวไทยยอง หรือ คนยอง จึงได้นำองค์ความรู้สู่การทอผ้าฝ้ายยกดอกขึ้น เพื่อตอบสนองตลาดผ้าทอ ในราคาที่ประชาชนทั่วไปสามารถเป็นเจ้าของได้
            แม้ปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม การแต่งกาย จะเน้นความสะดวกสบาย ได้แก่ การผลิตจากเทคโนโลยีอุตสาหกรรม จะเป็นที่นิยมของชาวบ้านทั่วไป ก็ตามแต่คุณค่าของภูมิปัญญา และความภาคภูมิใจในเอกลักษณ์ของชุมชนยังคงอยู่ ยังไม่ลืมของเก่าที่เป็นรากเหง้าของชีวิตจึงนำมาสู่การรวมกลุ่มของบุคคลในชุมชน ที่ร่วมสืบสาน และเผยแพร่องค์ความรู้ สืบต่อลูก ต่อหลาน มิให้เลือนหายตามกาลเวลาที่เปลี่ยนแปลงไป

จุดเด่นของผลิตภัณฑ์

            ฝ้าย (Cotton) คือเส้นใยเก่าแก่ การนำฝ้ายที่ใช้ในการทอผ้ามีมาตั้งแต่สมัยโบราณ โดยมีคุณสมบัติโดดเด่น ไม่แก่ เนื้อนุ่ม โปร่ง ระบายความร้อนได้ดี เนื่องจากฝ้ายมีช่องระหว่างเส้นใย จึงเหมาะกับสภาพอากาศในฤดูร้อน และเมื่อนำมาตากแห้งได้เร็ว จึงนิยมนำมาทอเป็นเครื่องนุ่งห่ม


การทอผ้าฝ้าย เป็นงานศิลปะที่อาจนับได้ว่ามีอยู่เพียงชิ้นเดียวในโลก เพราะขั้นตอนที่กล่าวมานั้นเป็นความสามารถและความละเอียดของแต่ละบุคคล ที่จะได้เส้นฝ้ายที่ต่างกัน ทั้งความหนา สี ความแน่นของการทอ การสอดกระสวย การเรียงเส้นฝ้าย ความคมชัดของลายทอ เป็นต้น ซึ่งมีผลกับความสวยงามของผ้าทอในแต่ละผืน จึงเป็นเอกลักษณ์ของผู้ที่สร้างสรรค์ คนใดคนหนึ่ง ที่มีนอกเหนือจาก ความรู้ ทักษะ และความชำนาญ


คุณภาพของผลิตภัณฑ์

        1) ใช้น้ำยาอาบผ้า เพื่อเพิ่มความเรียบของผ้า
        2) เป็นพื้นผ้าทอตามธรรมชาติ

ประโยชน์ของผลิตภัณฑ์ ด้วยความต้องการของผู้บริโภคมีความหลากหลาย จึงแบ่งได้ ดังนี้

        1) ใช้เป็นเครื่องแต่งกาย
        2) ใช้เป็นเครื่องใช้
        3) ใช้เป็นผ้าที่ประกอบสร้างสรรค์งานศิลปะประดิษฐ์อื่น ๆ

วิธีการใช้และการเก็บรักษา ซักให้สะอาด รีดให้เรียบ และพับหรือแขวนให้เรียบร้อย ถ้าสวมใส่ในกิจกรรมสำคัญ ๆ (ไม่ใช่บ่อย) ควรพับเก็บใส่ถุงให้เรียบร้อย





ข้อมูลเนื้อหา : นางสาวอรทัย วงศ์ฝั้น
เรียบเรียงข้อมูล/เนื้อหา : นางสาวนันณภัทร สมแสน บรรณารักษ์ห้องสมุด
ถ่ายภาพ/ภาพประกอบ : นางสาวนันณภัทร สมแสน บรรณารักษ์ห้องสมุด
ข้อมูล TKP อ้างอิง : https://2510lamphun.blogspot.com/2021/09/blog-post_74.html

Share this:

Post a Comment

ข้อคิดเห็นจากเครือข่าย TKP

 
Copyright © 2018 Thailand Knowledge Portal. Designed by OddThemes > Developed by mediathailand