การเปลี่ยนแปลงของกระแสวัฒนธรรมในปัจจุบัน ได้กลืนกินวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของแต่ละท้องถิ่นไปด้วย ทั้งการแต่งกาย วิถีชีวิต อาหารการกิน รวมไปถึงสถาปัตยกรรม อาคารบ้านเรือนก็แทบจะเป็นบ้านที่ก่อด้วยปูนซีเมนต์แบบเดียวกันทั้งหมด บ้านเรือนรูปทรงแบบโบราณจึงพบเห็นได้ยากมากขึ้นในปัจจุบัน และเชื่อว่าในอนาคตอาจจะสูญหายไปตามกาลเวลาอีกด้วยชุมชนบ้านป่าเหียง ตำบลบ้านธิ อำเภอบ้านธิ จังหวัดลำพูน เป็นอีกหนึ่งชุมชนที่ประสบปัญหาการเปลี่ยนแปลงของวัฒนธรรมเช่นเดียวกัน บ้านเรือนทรงไทลื้อดั้งเดิมแบบโบราณแทบจะหาชมได้ยากแล้ว คนสร้างเมื่อเสียชีวิตลง บางทีลูกหลานก็ไม่ได้เก็บรักษาหรืออนุรักษ์ไว้ ทำให้หายไปจำนวนมาก พ่อน้อยเมืองอินทร์ สายวังจิตต์ ปัจจุบันอายุ 85 ปี ได้ตระหนักถึงปัญหาการสูญสลายทางวัฒนธรรมบ้านเรือนแบบไทลื้อโบราณ ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมเรือนอยู่อาศัยที่มีเอกลักษณ์ที่โดดเด่น จึงได้อุทิศเรือนของตน เป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชน เปิดโอกาสให้ผู้สนใจเข้ามาศึกษาเรียนรู้ โดยยังคงมีเรือนอยู่อาศัยพื้นถิ่นแบบดั้งเดิมที่แสดงให้เห็นถึงอัตลักษณ์และสะท้อนภาพความเป็นอยู่ของท้องถิ่น ตามแบบวิถีของชุมชนไทลื้อไว้ค่อนข้างสมบูรณ์
ประวัติเฮือนไตลื้อ บ้านป่าเหียง
“เฮือนไตลื้อ” หลังนี้ตั้งอยู่ที่บ้านป่าเหียง หมู่ที่ 13 ตำบลบ้านธิ อำเภอบ้านธิ จังหวัดลำพูน เป็นเฮือนของพ่อน้อยเมืองอินทร์ สายวังจิตต์ (สร้างเมื่อ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2494) ปัจจุบันมีนายวิชาญ สายวังจิตต์ หรือ ลุงชาญ เป็นผู้ให้ข้อมูลและพาเยี่ยมชมเฮือนไตลื้อ เฮือนไตลื้อหลังนี้ได้มีการบูรณะซ่อมแซมเมื่อปี พ.ศ. 2548 เพื่อรักษาสภาพเสาเรือนให้มีความมั่นคงมากยิ่งขึ้น
ลักษณะเฮือนไตลื้อ บ้านป่าเหียง
เฮือนไตลื้อ ที่สร้างขึ้นเป็นการออกแบบผสมผสานระหว่างรูปแบบเรือนไทลื้อกับเรือนแบบไทย สร้างเรือนขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2494 โดยใช้ระยะเวลาในการสร้างถึง 2 เดือน ซึ่งการสร้างเรือนหลังนี้ใช้ช่างหรือคนในสมัยก่อนเรียกว่า “สล่า” ช่างที่สร้างบ้านหลังนี้จะใช้เต่ามือสำหรับเป็นเครื่องมือในการปัดไม้ เพื่อทำแผ่นไม้ให้เรียบเนียน ใช้สิ่ว สำหรับตอกเพื่อทำรู
เฮือนไทลื้อหลังนี้เกือบทั้งหลังจะเป็นไม้สัก ส่วนใหญ่ไม้แผ่นที่ปูพื้นตัวบ้านเป็นไม้สัก “ตุ๋งบ้าน” หรือ พื้นบ้าน จะเป็นไม้เนื้อแข็งอื่น ๆ โครงสร้างเรือนเป็นระบบเสาและคาน เสาเรือนถากเป็นแปดเหลี่ยมและเจาะช่องเพื่อสอดแวง (รอด) เพื่อรับต๋งและพื้นเรือนที่ยกสูง วัสดุก่อสร้างทั้งหมดเป็นไม้ทั้งหลัง หลังคาเดิมมุงด้วยดินขอ ปัจจุบันมุงด้วยแป้นเกล็ด หลังคาตั้งขึ้นค่อนข้างชัน ระหว่างเรือนมี “ฮางริน” ทำจากไม้ซุงขุดเป็นราง โครงสร้างรับน้ำหนักของหลังคา คือ เสาดั้งและเสาเรือน ใต้หลังคาโล่งไม่มีฝ้าเพดาน มีเพดานในตัวเรือนบริเวณหน้าห้องนอนและหลังบ้านเพื่อใช้ขึ้นไปเดินซ่อมหลังคา หรือใช้เป็นที่เก็บของของคนสมัยก่อน ฝาผนังเป็นฝาแป้นหลั่น (ฝาตีตามแนวตั้ง) มีไม้ระแนงตีปิดแนวรอยต่อระหว่างแผ่นฝ้าไม้เหมือนเช่นเรือนกาแล มีป่อง (หน้าต่าง) จำนวนน้อยและติดตั้งชิดระดับพื้นเรือน ภายในเรือนครัวมีกระบะเตาไฟวางบนพื้นเรือน ผนังเรือนครัวมีฝาไหล พื้นบ้านจะมีแผ่นไม้ที่เปิดได้ เรียกว่า “ฮูล่อง” เพื่อใช้สำหรับปัสสาวะ หรือใช้สำหรับสอดส่องผู้คนที่มาใต้ถุนบ้านในเวลากลางคืนได้
บริเวณหลังบ้านจะมีเตาไฟ เหนือเตาไฟมีควั่น (โครงไม้ไผ่สานสำหรับวางผึ่งถนอมอาหาร) บริเวณชานทำช่องราวกันตกเป็นแนวตั้ง ประตูห้องนอนมีลักษณะเป็นกรอบ เรือนไทลื้อนี้มี “หำยนต์” คือ แผ่นไม้แกะสลักอยู่เหนือช่องประตู บริเวณเติ๋นทางด้านทิศตะวันออกมีหิ้งพระ ตัวเรือนมีความงามในความลงตัวของปริมาตรสัดส่วน รูปทรง และพื้นที่ว่าง ที่สัมพันธ์กับการใช้สอยเป็นอย่างดี เทคนิคการก่อสร้างและการเข้าไม้ที่เรียบร้อยลงตัวทำให้ระนาบพื้น ผนัง และหลังคามีความงาม มีรูปแบบเรียบง่ายไม่ซับซ้อน เรือนไม้หลังนี้มีลักษณะเฉพาะ คือ มีฝาผนังของเรือนโดยรอบทั้งสี่ด้านเป็นฝาไม้แบบบานเลื่อน ที่เรียกว่า “ฝาไหล” เพื่อการระบายอากาศของเรือนได้ดี
เรือนชั้นบนใช้เป็นที่พักอาศัย โดยแบ่งพื้นที่เป็นส่วนของห้องนอนและส่วนพื้นที่โล่งที่เรียกว่า “เติ๋น” อยู่ส่วนกลางของเรือน ไว้สำหรับใช้สอยและกินข้าว ลักษณะการจัดพื้นที่ใช้สอยยังคงมีความคล้ายคลึงกับเรือนยุคก่อน ทำเป็นพื้นยกระดับขึ้นมาจากทางขึ้นหน้าประตู ด้านตะวันออกของเติ๋นเป็น “หิ้งพระ” สำหรับประดิษฐานพระพุทธรูป ถัดจากเติ๋นเข้าไปมีห้องนอนเพียงแค่ 1 ห้อง ซึ่งชนไทลื้อ จะนอนรวมกันทั้งหมดในห้องเดียว ปูที่นอนของใครของมัน และในฤดูหนาวจะมีการสุมกองไฟอยู่กลางห้องเพื่อคลายหนาวด้วย ส่วนด้านหลังของเรือนจะเป็นห้องครัว หรือเตาไฟแบบโบราณที่ยังคงสภาพเดิมไว้ให้ผู้สนใจได้ศึกษา
ปัจจุบันนี้ "เฮือนไตลื้อ" หลังนี้ ได้นำมรดกที่ตกทอดมาจากบรรพบุรุษของตน มาสร้างเป็นแหล่งเรียนรู้ให้แก่ลูกหลาน และผู้ที่สนใจศึกษา เพื่อให้เกิดความรู้สึกหวงแหน และเรียนรู้รากเหง้าทางภูมิปัญญาของชนไตลื้อในสมัยโบราณ นอกจากนั้นแล้ว ลุงชาญ ยังได้เป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ผ่านรายการโทรทัศน์ต่าง ๆ และเป็นวิทยากรให้แก่คณะศึกษาดูงานอีกด้วย ดังนั้น จึงถือได้ว่า เฮือนไตลื้อโบราณ บ้านป่าเหียง เป็นสมบัติของชุมชนที่ควรช่วยกันสนับสนุน อนุรักษ์ รักษา และสืบทอดเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมอันทรงคุณค่า ให้คงอยู่คู่กับชุมชนต่อไป
ข้อมูลเนื้อหา โดย นายวิชาญ สายวังจิตต์
เรียบเรียงเนื้อหา โดย นางวิไลวรรณ อุ๋ยสกุล และ นางสาวกานต์ชนก แก้วทิพย์
ภาพถ่าย/ภาพประกอบ โดย นางสาวกานต์ชนก แก้วทิพย์
Post a Comment