TKP HEADLINE

วัดใหญ่ชัยมงคล

 


                     ตั้งอยู่บ้านกมลราษฎร์ หมู่ที่ 1 ตำบลบ้านใหม่ไชยมงคล อำเภอทุ่งเสลี่ยม  จังหวัดสุโขทัย  สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย วัดนี้เดิมเป็นที่ตั้ง ของวัดในสมัยเมืองบางขลัง ซึ่งยังมีซากสิ่งก่อสร้าง  เหลือไว้ศึกษา  ปัจจุบันกรมศิลปกร ได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน เป็นวัดโบราณสมัยเมืองบางขลัง มีโบราณสถานที่กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกของชาติ และมีลานปฏิบัติธรรม ที่ชาวบ้านจะมารวมตัวกันทุกวันอาทิตย์เพื่อทำวัดเย็น โดยรอบบริเวณวัดจะสะอาดร่มรื่นด้วยความร่วมมือร่วมใจกันรักษา

เจดีย์ประธาน จากการขุดแต่งพบฐานเจดีย์ประธานขนาดใหญ่ เป็นรูปสี่เหลี่ยมขนาด 11 x 11 เมตร จากส่วนที่เหลืออยู่สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นเจดีย์ทรงระฆัง สิ่งที่น่าสนใจคือ บริเวณพื้นบานประทักษิณปูด้วยแผ่นศิลาแรงรูปที่เหลี่ยมผืนผ้า ลักษณะเช่นนี้คล้ายกับพื้นบานประทักษิณที่วัดโบสถ์นอกจากนี้ยังมีลักษณะพิเศษบางประการคือ เสาร์ศิลาแลงที่ปักเรียงเป็นระยะ ๆ รอบลานประทักษิณ ซึ่งคงหมายถึงเป็นพื้นที่พิเศษหรือ แทนกำแพงแก้วในส่วนของเจดีย์ประธานเพียงองค์เดียว

วิหาร หันหน้าไปทางทิศตะวันออก มีหลังคาเครื่องไม้มุงกระเบื้อง มีบันไดขึ้นทางทิศตะวันออก จากการขุดแต่งพบว่าวิหารจะเป็นส่วนที่สร้างขึ้นในสมัยหลัง ราวพุทธศตวรรษที่ 20 – 21 ที่มุมทั้งสี่ของเจดีย์ประธาน เป็นเจดีย์รายก่อด้วยศิลาแลง รูปทรงของเจดีย์รายทั้งสี่ น่าจะเป็นเจดีย์ปราสาทหรือทรงมณฑป คาดว่าสร้างขึ้นสมัยเดียวกัน ยังพบว่ามีการฝังภาชนะดินเผาบรรจุกระดูกไว้ที่ฐานของเจดีย์ประธาน และเจดีย์รายบางองค์ด้วย ภาชนะบรรจุกระดูกที่พบเป็นภาชนะดินเผาเนื้อแกร่ง ไม่เคลือบ เรียกกันว่า ไหปากแตร นอกจากเจดีย์รายที่มุมทั้งสี่แล้ว พบว่า ในระยะต่อมาได้มีการสร้างเจดีย์รายเพิ่มขึ้นอีกเป็นจำนวนมากซึ่งเหลือหลักฐานเพียงส่วนฐานสันนิษฐานว่าส่วนใหญ่เป็นทรงมณฑป

                    กำแพงแก้ว สร้างโดยใช้ศิลาแลงเป็นท่อนยาวปักเรียงเป็นแถวรูปสี่เหลี่ยมล้อมรอบกลุ่มโบราณสถานที่ทับหลังวางทับด้านบนอีกชั้นหนึ่ง โดยมีช่องประตูทางเข้าอยู่ทางด้านทิศตะวันตกลักษณะของกำแพงแก้วเช่นนี้คล้ายกับที่วัดโบสถ์  ที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุเมืองศรีสัชนาลัย และที่วัดพระแก้วเมืองกำแพงเพชร โบราณสถานวัดใหญ่ชัยมงคล เป็นกลุ่มโบราณสถานที่มีอายุสมัยสองระยะคือ ระยะที่หนึ่ง มีการสร้างโบราณสถานหลักของวัด คือเจดีย์ประธานและเจดีย์ราย ที่มุมทั้งสี่ของเจดีย์ประธานรวมทั้งกำแพงแก้ว สันนิษฐานว่า  น่าจะมีอายุในราวพุทธศตวรรษที่ 19-20 ระยะที่สอง มีการสร้างโบราณสถานเพิ่มเติมขึ้นมาเป็นจำนวนมาก ได้แก่ เจดีย์รายองค์อื่น ๆ และวิหาร สันนิษฐานว่า กลุ่มโบราณสถานในระยะที่สองนี้น่าจะมีอายุในราวพุทธศตวรรษที่ 21-22 โดยพบหลักฐานเป็นก้อนอิฐที่มีเลขหนึ่งกับเลขสาม ซึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านอักษรศาสตร์ของกรมศิลปากรได้วิเคราะห์ว่า เป็นตัวเลขในสมัยอยุธยา ราวพุทธศตวรรษที่ 21-22(ผู้เชี่ยวชาญก่องแก้ว  วีระประจักษ์) ข้อมูลโดย นางสาวนาตยา  ภูศรี นักโบราณคดี 4

                  ศาลาเมธีกล้าธรรม เป็นศาลาที่ใช้สำหรับต้อนรับศรัทธาที่มาร่วมทำบุญกับทางวัด

                  ป่าไผ่เวฬุวัน สถานปฏิบัติธรรมสำหรับพระสงฆ์ นักศึกษา ประชาชน ในวันสำคัญทางพุทธศาสนา 

ผู้ให้ข้อมูล พระชิตวร ธีรปัญโญ เลขาเจ้าคณะตำบลบ้านใหม่ไชยมงคล
ภาพถ่ายโดย นางสาวสุนิษา สีดา

อ้างอิงข้อมูลจาก : กศน.ตำบลบ้านใหม่ไชยมงคล 
ตำบลบ้านใหม่ไชยมงคล อำเภอทุ่งเสลี่ยม
                              จังหวัดสุโขทัย 

Share this:

Post a Comment

ข้อคิดเห็นจากเครือข่าย TKP

 
Copyright © 2018 Thailand Knowledge Portal. Designed by OddThemes > Developed by mediathailand