TKP HEADLINE

วัดพิกุลทอง พระอารามหลวง

 วัดพิกุลทอง พระอารามหลวง



ประวัติความเป็นมา

            วัดพิกุลทอง เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ ตั้งอยู่เลขที่ 93 หมู่ที่ 3 ตำบลพิกุลทองอำเภอท่าช้าง จังหวัดสิงห์บุรี ตั้งอยู่ริมแม่น้ำน้อย สังกัดคณะสงฆ์มหานิกายสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2434 โดยขุนสิทธิ์ (เสือ) นายกลับ สถิตบุตร และนายช่างเป็นหัวหน้าดำเนินการสร้างมีเนื้อที่ตั้งวัดจำนวน 103 ไร่ 3 งาน 60 ตารางวา วัดได้แบ่งออกเป็น 2 เขต คือเขต สังฆาวาส เป็นที่พักอาศัยของพระภิกษุสามเณร และสิ่งปลูกสร้างเสนาสนะภายในวัด และเขตพุทธาวาสหรือเขตพุทธสถานเป็นที่ประดิษฐานปูชนียวัตถุ                                  วัดพิกุลทองนั้นเดิมมีชื่อว่า วัดใหม่พิกุลทอง แต่ชาวบ้านนิยมเรียกว่า วัดใหม่ เพราะเป็นวัดที่สร้างขึ้นใหม่โดยไม่ได้เป็นวัดร้างมาก่อน ต่อมา พ.ศ.  2483  เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น  วัดพิกุลทอง ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2440 และครั้งที่สองเมื่อ ปี พ.ศ. 2515 ได้รับยกขึ้นเป็นพระอารามหลวงชั้นตรีเมื่อ ปี พ.ศ. 2536 



ปูชนียวัตถุภายในวัด

1.พระพุทธรูปปางประทานพร

               ศิลปะสมัยสุโขทัย หน้าตักกว้าง 11 วา 2ศอก 7นิ้วสูง 21 วา 3 คืบ 11 นิ้ว สร้างด้วยคอนกรีตเสริม เหล็ก องค์พระประดับด้วย โมเสดทองคำ 24 เค จากประเทศอิตาลี และ เป็นพระพุทธรูปปางประทานพรที่ สง่า สวยงาม องค์หนึ่งในประเทศไทย ได้รับพระราชทานนามจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช นามว่า พระพุทธสุวรรณมงคลมหามุนี

2.พระสีวลี (พระฉิม) 

            พระฉิมพลี หรือ พระสิวลี เป็นที่รู้จักกันในหมู่พุทธศาสนิกชนว่า ท่านเป็นพระอรหันต์ ที่มีบารมีในทางด้านโชคลาภพระฉิมพลีมาจากชาวมอญที่เข้ามาอาศัยอยู่ในเมืองไทย และได้แพร่หลายมาจนถึงปัจจุบันก็ได้มีการปั้น หรือสร้างพระสีวลี หรือ พระฉิมพลี ประดิษฐานไว้ทั่ววัด หรือได้มีผู้คนนำไปบูชาที่บ้านเพื่อกราบไหว้และก่อให้เกิดโชคลาภ ความสวัสดีมีชัยแก่ตนและครอบครัวพระฉิมพลี มีรูปลักษณ์อิริยาบถท่ายืน หรือท่ากำลังเดินออกธุดงค์ เป็นรูปพระภิกษุสงฆ์ ยืนถือไม้เท้าในมือขวา ส่วนมือซ้ายนั้นแบกกลดพาดอยู่บนบ่า และสะพายย่ามใส่เครื่องอัตถบริขาร พระสีวลี (พระฉิม) สร้างด้วยโลหะลงลักปิดทองคำ มีขนาดสูง ๙ ศอก ๙ นิ้ว ประดิษฐานกลางสระน้ำด้านหน้าพระพุทธสุวรรณมงคลมหามุนี


3.พระสังกัจจายนะ

              พระสังกัจจายน์ หรือ พระสังกัจจายนะ ที่ ชาวพุทธทั่วไปมักเรียกเพี้ยนไปเป็น พระสังข์กระจาย นั้น แท้ที่จริงก็คือ พระมหาสังกัจจายนเถระ หรือ พระมหากัจจายนะ เถระ ซึ่งเป็นพระอรหันต์องค์หนึ่งในครั้งพุทธกาล พระสังกัจจายน์ ที่เราเห็นกันทั่วไปในปัจจุบัน เป็นภาพหรือรูปปั้นที่อ้วน พุงพลุ้ย ใบหน้าอิ่มเอิบ ยิ้มร่าอย่างมีเมตตา เป็นการแสดงถึงการมีโชค มีลาภ มีเมตตามหานิยมแก่ผู้สักการะบูชา แต่ก่อนที่จะมามีรูปลักษณ์อย่างนี้ พระสังกัจจายน์ เป็นผู้มีรูปร่างงดงาม ผิวพรรณผุดผ่อง ดุจทองคำ จนเป็นที่ต้องตาต้องใจแก่คนทั่วไป ไม่ว่าชาย หรือหญิง เรียกว่าใคร ๆ ก็อยากเห็น อยากพบ อยากทำบุญด้วย เป็นเมตตามหานิยมที่เกิดขึ้นจากตัวท่านเอง จนสตรีเพศทั้งหลายต่างก็พากันหลงใหล ไปอยู่ที่ไหนก็มีสตรีหลายคนมาคอยเฝ้าดู เฝ้าชมกันอย่างไม่ลุกไปไหน จนเป็นการขัดขวาง การปฏิบัติสมณธรรม ท่านจึงไปทูลขออนุญาตจากพระพุทธองค์ เพื่อขอแปลงกาย ไม่ให้หล่อเหลางดงาม ซึ่งก็ทรงมีพุทธอนุญาตให้เป็นไปตามที่ขอพระสังกัจจายน์ จึงใช้ฤทธิ์อภิญญาของท่านแปลงกายให้อ้วนพุงพลุ้ย จนถึงต้องเอามืออุ้มไว้ เพราะมันใหญ่มาก แต่ใบหน้าก็ยังอวบอิ่มยิ้มร่าด้วยเมตตาบารมีแห่งความมีโชค มีลาภ ก็หมดปัญหาไป สำหรับการหลงใหล ในรูปร่างหน้าตา แต่ผู้คนก็ยังติดใจในเมตตาบารมีของท่านก็ยังทำบุญกับท่านอยู่เสมอ สร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็กหน้าตักว้าง ๙ เมตร ประดิษฐานด้านทิศใต้ขององค์พระพุทธสุวรรณมงคลมหามุนิ



4. รูปหล่อสมเด็จพุฒจารย์ (โต พรหฺมรังสี ) 

             ขนาดเท่าองค์จริง ได้ถอดแบบมาจาก วัดระฆังโฆสิตาราม ประดิษฐานในวิหารหน้าพระอุโบสถ


5.วิหารคต

              ระเบียงคตที่สร้างล้อมรอบองค์หลวงพ่อใหญ่ เป็นระเบียงคต 4 ด้าน มีประตูเข้าออกระหว่างกลางแต่ละด้าน นับจากประตูตรงวิหารหลวงพ่อแพที่ผมเดินเข้ามา จะเป็นพระพุทธรูปปางที่ไม่เคยเห็นมาก่อน เช่นปางประทานโอวาท และก็จะมีพระพุทธรูปประจำปีเกิด ประจำวันเกิด รวมทั้งหมด 56 องค์ และรูปพุทธประวัติพระพุทธเจ้าตั้งแต่ประสูติ จนถึงปรินิพาณ



6.พระพิฆเณศ

           เทพเจ้าแห่งความสำเร็จสร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก ประดิษฐานกลางสระน้ำด้านทิศเหนือองค์พระใหญ่ประทานพร


7.พระประทานในพระอุโบสถ

            เป็นพระพุทธรูปขนาดเล็กประดิษฐานบนฐานที่สูงหลายชั้นเพื่อให้เหมาะกับขนาดของอุโบสถ เราจะเห็นองค์พระประธานเล็กมาก พระพุทธรูปองค์นี้มีพระนามว่า พระพุทธศรีวิริยโสภิต หลวงพ่อสี เกสโร พระอาจารย์ด้านวิทยาคมของหลวงพ่อแพ ได้สร้างถวายแก่หลวงพ่อแพ



Share this:

Post a Comment

ข้อคิดเห็นจากเครือข่าย TKP

 
Copyright © 2018 Thailand Knowledge Portal. Designed by OddThemes > Developed by mediathailand