TKP HEADLINE

รำวง 3 ส. สืบสานวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่น แบ่งปันรอยยิ้มและความสุข

“รำวง” เป็นศิลปะการละเล่นดนตรีและนาฏศิลป์ ที่อยู่คู่กับคนไทยมาอย่างยาวนาน มีวัฒนธรรมมาจาก “รำโทน” เป็นการรำและร้องของชาวบ้าน จะมีผู้รำทั้งชายหญิง รำกันเป็นคู่รอบครกตำข้าวที่วางคว่ำไว้ หรือรำกันเป็นวงกลม โดยมีโทนเป็นเครื่องดนตรีประกอบจังหวะ ลักษณะการรำและร้องเป็นไปตามความถนัด ไม่มีแบบแผนกำหนดไว้ มุ่งเน้นที่ความสนุกสนานรื่นเริงเป็นสำคัญ ซึ่งสามารถพบเห็นได้ทั่วไปในทุกภาคของประเทศไทย และมีรูปแบบท่ารำแตกต่างกันไปตามแบบฉบับของท้องถิ่นนั้น ๆ เป็นศิลปะที่สะท้อนความเป็นตัวตนของผู้คนในแต่ละท้องถิ่น ทั้งการแต่งกาย ความชื่นชอบแนวดนตรีหรือบทเพลง รวมไปถึงท่วงท่าในการร่ายรำ ถือเป็นเอกลักษณ์ และเสน่ห์ ของชาวไทย ที่สร้างความประทับใจให้กับชาวต่างชาติได้ไม่น้อย


อำเภอขาณุวรลักษบุรี ตั้งอยู่บริเวณทางใต้ลุ่มแม่น้ำปิง เป็นชุมชนโบราณ เดิมเรียกว่า เมืองแสนตอ สันนิษฐานว่าเป็นเมืองโบราณรุ่นเดียวกับเมืองเทพนคร เมืองไตรตรึงษ์ เมืองพาน เมืองคณฑี เมืองนครชุม และเมืองชากังราว มีประวัติความเป็นมาที่ยาวนาน มีบันทึกในพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐว่า เมื่อ พ.ศ. 2102 สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ แห่งกรุงศรีอยุธยา ได้เสด็จมาคล้องช้าง ณ เมืองแสนตอ ซึ่งขึ้นกับเมืองกำแพงเพชรได้ช้างถึง 40 เชือก

ชุมชนเก่าแก่ของอำเภอขาณุวรลักษบุรี คือ ชุมชนเขากะล่อน บริเวณบ้านป่าพุทรา เป็นชุมชนในยุคหินใหม่มีอายุประมาณ 5,000-10,000 ปี  จากการสำรวจของมหาวิทยาลัยศิลปากร เมื่อปีพุทธศักราช 2530 พบโบราณวัตถุเป็นจำนวนมาก อาทิ ขวานหินขัด หัวธนู กำไล ลูกปัด เศษภาชนะดินเผา จากหลักฐานดังกล่าวยืนยันได้ว่าชุมชนเมืองแสนตอเป็นเมืองเก่าแก่ก่อนประวัติศาสตร์ของจังหวัดกำแพงเพชร  

แต่เดิมอำเภอขาณุวรลักษบุรีมีฐานะเป็นกิ่งอำเภอ แยกจากอำเภอคลองขลุง มีชื่อว่า “กิ่งอำเภอแสนตอ” ที่ว่าการกิ่งอำเภอแสนตอ เดิมตั้งอยู่บริเวณริมแม่น้ำปิง (หน้าโรงเรียนวัดน้อยวรลักษณ์ในปัจจุบัน) เนื่องจากถูกน้ำกัดเซาะจึงย้ายมาตั้งในสถานที่ปัจจุบัน มีพื้นที่เชื่อมต่อกับจังหวัดนครสวรรค์

ความหมายของรำวง 3 ส.
อำเภอขาณุวลักษบุรี จึงเป็นหนึ่งในเมืองเก่าของจังหวัดกำแพงเพชร ลูกหลานยังคงสืบทอดวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามของคนพื้นถิ่นมาอย่างยาวนาน และมีการพัฒนาปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย ผู้เขียนขอกล่าวถึงด้านศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี ของชาวอำเภอขาณุวรณี ที่สะท้อนถึงค่านิยม ประเพณี วิถีชุมชน ที่สำคัญคือ เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความสุข ความรักสามัคคีของชาวขาณุวรลักษบุรี  กลุ่ม “รำวง 3 ส.” เป็นการรวมตัวกันของคนที่มีความชอบด้านดนตรี เสียงเพลง และการดูแลสุขภาพตนเอง โดยกลุ่มได้นำรูปแบบการรำวงมาเป็นกิจกรรมในการรวมตัวของกลุ่ม และได้พัฒนาท่วงท่าการรำวงให้เป็นแบบฉบับของกลุ่ม เน้นความสนุกสนาน  กลุ่มได้ให้ความหมาย ของ 3 ส. ประกอบด้วย 
ส.ที่ 1 สนุก 
ส.ที่ 2 สุขภาพดี 
ส.ที่ 3 สามัคคี
รวมเป็น รำสนุก-สุขภาพดี-สามัคคีเกิด จึงใช้ชื่อกลุ่มว่า รำวง 3 ส. มาตลอด ถึงปัจจุบันเป็นเวลา 6 ปีแล้ว




กิจกรรมรำวง 3 ส. ภาพโดย นางสาววณิชา อินทรศักดิ์ (2565)

กลุ่มรำวง 3 ส. มีนางกาญจนา ปั๋นแก้ว เป็นประธานกลุ่ม ปัจจุบันมีสมาชิกรวม 30 คน ในทุกวัน หากสมาชิกไม่ติดภารกิจ หรือไม่มีฝนตก ก็จะมารวมตัวกันช่วงเวลา 18.00-19.30 น. ณ ลานริมปิง เพื่อมารำวง ออกแบบท่ารำใหม่ ๆ ให้เข้ากับจังหวะเพลงที่สนุกสนาน จึงทำให้มีท่ารำที่แปลกใหม่ สวยงาม พร้อมเพรียงกัน สะกดสายตาผู้ชมทุกครั้งที่ทำการแสดง ทำให้การรำวงไม่ใช่เรื่องน่าเบื่อล้าสมัยอีกต่อไป ผู้คนเริ่มให้ความสนใจ และเข้าร่วมเป็นสมาชิกมากขึ้น เป็นที่ยอมรับ และชื่นชอบ ที่กลุ่มทำกิจกรรมสร้างสรรค์เป็นแบบอย่างที่ดีให้กับลูกหลาน เยาวชน และประชาชนทั่วไป ทั้งยังช่วยส่งเสริมและสืบสานประเพณีท้องถิ่นให้เป็นที่รู้จักของคนทั่วไป ทั้งในและนอกพื้นที่ เนื่องจากเมื่อมีกิจกรรมหรือวันสำคัญต่าง ๆ กลุ่มจะเข้าร่วมแสดงรำวงอยู่เสมอ ได้สร้างสีสันและรอยยิ้ม สร้างความประทับใจให้กับผู้พบเห็น ทำให้การรำวงที่มีมายาวนานยังคงเป็นวัฒนธรรมที่ชาวขาณุวลักษบุรีได้สืบสานมาจนถึงปัจจุบัน “รำวง 3 ส." จึงเป็นตัวแทนที่สะท้อนถึงศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณีท้องถิ่น ของอำเภอขาณุวรลักษบุรี จังหวัดกำแพงเพชร ได้เป็นอย่างดี

รำวง 3 ส. ได้รับการสนับสนุนจากเทศบาลอำเภอขาณุวรลักษบุรี กศน.อำเภอขาณุวรลักษบุรี รวมทั้งหน่วยงานอื่นในระดับพื้นที่ ช่วยส่งเสริมสนับสนุนให้กลุ่มเป็นตัวแทนในการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม ร่วมแสดงรำวงในชุดสีสันสดใสในงานประเพณีสำคัญต่าง ๆ เช่น ประเพณีวันลอยกระทง งานสารทไทยกล้วยไข่ งานปีใหม่ ตรุษจีน เป็นต้น รวมทั้งได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการรำวงกับอำเภอใกล้เคียงและจังหวัดอื่น สมาชิกทุกคนมีความสุขทุกครั้งที่ได้ร่วมแสดงการรำวง มีความภาคภูมิใจ ที่เป็นส่วนหนึ่งในการร่วมสืบสานศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณีท้องถิ่น



ภาพโดย นางสาววณิชา อินทรศักดิ์ (2565)

จุดเด่น และเอกลักษณ์ของกลุ่ม คือ รอยยิ้ม ความสนุก ความสดใสที่มีในตัวของสมาชิกทุกคน ซึ่งสอดคล้องกับความหมายของกลุ่ม รำสนุก-สุขภาพดี-สามัคคีเกิด รวมถึงชุดที่ใช้ในการแสดงแต่ละครั้ง สมาชิกกลุ่มจะให้ความสำคัญในการร่วมคิด ร่วมตัดสินใจเลือกแบบที่เน้นความสดใส และเหมาะสมในแต่ละกิจกรรม

หากมีผู้สนใจสามารถแวะเวียนมาชมการรำวงของกลุ่มได้ทุกวัน หรือต้องการมาเรียนรู้ฝึกการรำวง  กลุ่มก็ยินดีแบ่งปันถ่ายทอดศิลปะการรำวงให้กับผู้ที่สนใจ เพื่อให้ รำวง 3 ส. คงอยู่ในใจของลูกหลาน ประชาชนชาวอำเภอขาณุวรลักษบุรี และเป็นที่รู้จักของคนทั่วไป

ภาพโดย นางสาววณิชา อินทรศักดิ์ (2565)

ข้อมูลเนื้อหา โดย  นางสาววณิชา  อินทรศักดิ์ สมาชิกกลุ่ม รำวง 3 ส.

เขียน/เรียบเรียง โดย
   นางธัญมล โอมณีเขียว  ตำแหน่ง ครูผู้ช่วย กศน.อำเภอขาณุวรลักษบุรี 
จังหวัดกำแพงเพชร

ภาพถ่าย/
  โดย นางสาววณิชา  อินทรศักดิ์

อ้างอิง 
KRURAVIWUN. ประวัติความเป็นมารำวงมาตรฐาน. สืบค้นเมื่อ 02 มีนาคม 2565 จากhttps://sites.google.com/a/bualai.ac.th/kruraviwan/prawati-khwam-pen-ma-rawng-matrthan 

ฐานข้อมูลท้องถิ่นกำแพงเพชร-ตาก. ประวัติอำเภอขาณุวรลักษบุรี. สืบค้นเมื่อ  02 มีนาคม 2565 จาก https://arit.kpru.ac.th/ap2/local/?nu=pages&page_id=3&code_db=610001&code_type=06






น้ำตกเขาบรรจบ

 

น้ำตกเขาบรรจบ

 
ขอบคุณเครดิตภาพจาก www.chillpainai.com

น้ำตกเขาบรรจบ ตั้งอยู่ในบ้านทุ่งเพล ตำบลฉมัน อำเภอมะขาม จังหวัดจันทบุรี บริเวณโดยรอบ เป็นชุมชน ที่ยังคงความเป็นธรรมชาติอากาศมีโอโซนที่บริสุทธิ์ สังเกตได้จากเส้นทางการเดินทางเข้าน้ำตก ซึ่งพื้นที่โดยรอบของบ้านทุ่งเพลมีความอุดมสมบูรณ์ และเขียวขจีด้วยต้นไม้น้อยใหญ่ตลอดเส้นทาง ลำธารน้ำตกที่ไหลลงมาจากน้ำตกเขาบรรจบตลอดเวลา โอบล้อมไปด้วยบ้านเรือน ชุมชนและโรงแรม ที่พักตากอากาศ มาเที่ยวที่น้ำตกเขาบรรจบจังหวัดจันทบุรีแล้ว ก็ต้องพักโฮมสเตย์ริมน้ำ ซึ่งตั้งอยู่เรียงรายตลอดสายน้ำที่ทอดยาวหลายกิโลเมตร สัมผัสกับบรรยากาศริมน้ำที่สุดแสนจะโรแมนติก 

 
ขอบคุณเครดิตภาพจาก www.chillpainai.com

ในการเดินทางมายังน้ำตกนั้นมี 2 เส้นทาง คือ เข้าทางหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติเขาคิชฌกูฏ ไม่มีค่าผ่านทาง ซึ่งการเดินทางเข้าด้านอุทยานจะมีลานดินที่สามารถตั้งแคมป์ปิ้ง และลงเล่นน้ำตกได้ 

 
ขอบคุณเครดิตภาพจาก www.okchanthaburi.com

และอีกเส้นทางหนึ่งผ่านทางวัดเขาบรรจบ ซึ่งวัดเขาบรรจบเป็นสถานที่อีกแห่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้ถ้าได้มาเที่ยวที่บ้านทุ่งเพลแล้ว ก็ต้องแวะไปกราบพระพุทธชินราชภายใน "วัดเขาบรรจบ" ที่นี่เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรม และเรียกได้ว่าเป็นวัดป่าที่มีความสงบอีกแห่ง เหมาะสำหรับคนที่ชอบศึกษาธรรมะ หรือชอบปฏิบัติธรรม และอีกหนึ่งไฮไลท์ภายในวัดเขาบรรจบนั่นคือ "ต้นสมพงษ์" ต้นไม้ใหญ่เก่าแก่ที่มีอายุกว่า 100 ปี ความสูง 10 เมตร กว้างขนาด 10 คนโอบเลยทีเดียว อยู่ภายในพุทธอุทยานในวัดเขาบรรจบแห่งนี้ ตามประวัติสมัยก่อน ชาวบ้านโดนทางการปิดทางเข้าออกด้วยต้นสมพงษ์น้อยใหญ่ จึงทำการเจาะทางเดินเพื่อความสะดวก แต่ถึงกระนั้นแล้วต้นสมพงษ์ต้นนี้ก็ยังแข็งแรงและคงทนตราบจนปัจจุบัน ชาวบ้านที่นี่เลยเรียกต้นสมพงษ์ต้นนี้ว่า "ประตูสวรรค์" ไปสู่ธรรมะและความสงบ

    
ขอบคุณเครดิตภาพจาก www. paikondieow.com

นอกจากความอัศจรรย์ของต้นไม้นี้แล้ว ภายในบริเวณวัดเขาบรรจบยังเป็นแหล่งธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ด้วยป่าไม้นานาชนิด และยังมีสะพานแขวนที่เป็นหนึ่งเอกลักษณ์ของวัดเขาบรรจบ สำหรับใครที่ได้มาสัมผัสสถานที่แห่งนี้แล้วนั้น จะรู้สึกเหมือนเข้ามายังอีกโลกหนึ่งที่มีแต่ความบริสุทธิ์ มีความอุดมสมบูรณ์ที่เงียบสงบของธรรมชาติอย่างแท้จริง

 

ขอบคุณเครดิตภาพจาก www. thesunsight.com

สำหรับการมาเที่ยวชมน้ำตกเขาบรรจบนั้น (พิกัด : 12.851177381670162, 102.20272392847018) สามารถ ไป-กลับ และพักค้างคืน ในการพักนั้น มีทั้งแบบโฮมสเตย์และพักโรงแรมตากอากาศ ซึ่งราคาที่พักนั้นมีตั้งแต่ 800-6,000 บาท ขึ้นอยู่กับบรรยากาศ สิ่งอำนวยความสะดวก และจำนวนผู้เข้าพักแต่ละห้อง อีกทั้งยังมีจุดกางเต็นท์ในบริเวนอุทยาน

ข้อมูลเนื้อหา เรื่องราว เขียนโดย นายชัยณรงค์ มณีเลิศ
ภาพประกอบ โดย นายชัยณรงค์ มณีเลิศ
เว็บไซต์:  okchanthaburi, chillpainai, paikondieow, esportivida
เฟซบุ๊ก :  Welovetogo










วัดสมานรัตนาราม แหล่งรวมสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่เมืองแปดริ้ว

วัดสมานรัตนาราม แหล่งรวมสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่เมืองแปดริ้ว 

วัดสมานรัตนาราม ตั้งอยู่ตำบลบางแก้ว อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา อยู่ระหว่างอำเภอบางคล้า และอำเภอคลองเขื่อน ริมแม่น้ำบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา ตำแหน่งที่ตั้งของวัดสมานรัตนาราม อยู่ในตำแหน่ง “ฮวงจุ้ยมงคล” (ถุงเงินถุงทอง) เป็นแหล่งรวมสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ประทานพรให้ผู้คนสมปรารถนา จึงมีผู้คนมากมายมาที่วัดสมานรัตนาราม
จุดเด่นสำคัญของวัดสมานรัตนาราม มีองค์พระพิฆเนศปางนอนเสวยสุขใหญ่ที่สุดในประเทศไทย สูง 16 เมตร ยาว 22 เมตร เนื้อชมพู ลักษณะกึ่งนั่งนอนตะแคง โดยพระหัตถ์ซ้ายถืองาที่หัก พระหัตถ์ขวาถือดอกบัว ความหมายของพระพิฆเนศปางนอนเสวยสุข คือ ความสุขสบาย ความสุขบริบูรณ์มั่งคั่งพร้อมทุกด้าน รื่นรมย์ ไร้ทุกข์ ไร้ความเศร้าหมอง อิ่มหนำสำราญ มีกิน  มีโชคลาภ จะนำความสุขสบายมาสู่ผู้บูชา ถือเป็นมหามงคล สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่อยู่คู่ประชาชนในจังหวัดฉะเชิงเทรา รอบฐานมีพระพิฆเนศ 32 ปาง ให้ได้ขอพรสักการะและเป็นห้องจัดแสดงวัตถุมงคล ได้เปิดให้ประชาชนเข้าชมและสำหรับผู้ที่ต้องการบูชาองค์พระพิฆเนศอีกด้วย

        

เคล็ดลับการขอพรพระพิฆเนศจะมีปูนปั้นรูปหนูอยู่สองตัว ชื่อว่า หนูมุสิกะ ซึ่งเป็นต้นห้องของพระพิฆเนศ จะมีนักท่องเที่ยวต่อแถวยาวยืนกระซิบที่รูปปั้นหนู เชื่อว่าถ้าอยากได้สิ่งใดขอพรสิ่งใดให้สมหวังให้ไปกระซิบที่หูหนูแล้วหนูจะนำสิ่งที่เราขอนั้นไปบอกท่านพระพิฆเนศให้ประทานสิ่งที่ต้องการกลับมาแต่สิ่งที่สำคัญ คือ อย่าลืมติดสินบนหนูด้วยการทำบุญใส่ตู้ที่วางไว้ด้านหน้า และเวลากระซิบบอกหนูให้เราเอามืออีกข้างอ้อมไปปิดรูหูของหนูอีกข้างด้วย ทั้งนี้เพราะป้องกันการฝากขอพรจะได้ไม่เข้าหูซ้ายทะลุออกไปหูขวานั่นเอง 

  

พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ พระ 5 พี่น้อง
มีความเชื่อว่ามีความศักดิ์สิทธิ์ในเรื่องโชคลาภ ช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยาก รวมทั้งขอในเรื่องการเรียน การงาน หรือหายจากการเจ็บไข้ได้ป่วย 
หลวงพ่อโต นิยมกราบไหว้เพื่อขอพรเกี่ยวกับสุขภาพเพราะเชื่อว่าท่านสามารถขจัดปัดเป่าโรคภัยไข้เจ็บให้หายในเร็ววัน และสามารถคุ้มครองผู้กราบไหว้ให้แคล้วคลาดปลอดภัยจากภยันตราย


เจ้าแม่กวนอิม องค์ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เป็นปางประทานบุตรและโชคลาภ คนทั่วไปมีความเชื่อ ศรัทธาในเรื่องการขอบุตรโดยเฉพาะบุตรเพศชาย

 

องค์ท้าวมหาพรหมใหญ่ที่สุดในโลก ประชาชนนิยมกราบไหว้ขอพรให้สำเร็จในหน้าที่การงาน

 

พระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ หรือช้างสามเศียรมีความเชื่อว่าพระอินทร์เป็นเจ้าแห่งช้างทั้งปวงในสากลจักรวาลมีช้างเป็นพาหนะคู่พระทัยเป็นเอกลักษณ์ของการทำความดี และความอุดมสมบูรณ์ นิยมเดินลอดท้องช้างเพื่อสะเดาะเคราะห์ และเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต


พระราหู ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย
มีความเชื่อว่าการกราบบูชาพระราหูจะนำโชคลาภ ความสำเร็จในหน้าที่การงาน ความเจริญก้าวหน้า ร่ำรวยเงินทองมาให้ รวมถึงแก้เคล็ด ผู้ที่มีดวงราหูเข้าแทรกนิยมไหว้เพื่อแก้เคล็ด จะช่วยปัดเป่าเรื่องร้าย ๆ ให้กลายเป็นดี เกื้อหนุนดวงชะตาชีวิต

 

ดอกบัวกลางแม่น้ำวิจิตรสวยงาม มีพระบรมสารีริกธาตุให้ประชาชนได้กราบไหว้ 

 

พญานาค
รูปทรงสีสันสวยงามเป็นมุมถ่ายรูปยอดนิยมกันอีกด้วย การส่งเสริมการท่องเที่ยวจากชุมชนและภาครัฐ โดยให้คนในชุมชนได้จัดจำหน่ายสินค้า มีบริการล่องเรือชมแม่น้ำบางปะกงเป็นการสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน ปัจจุบันวัดสมานรัตนารามไม่ได้รู้จักเฉพาะในหมู่คนไทยในประเทศแม้แต่ต่างประเทศทั่วโลกก็รู้จัก ผู้คนเดินทางมากราบไหว้ ขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์วันละหลายหมื่นคนยิ่งทำให้วัดพัฒนาไปได้อย่างต่อเนื่อง


เวลาเปิด – ปิด : วัดสมานรัตนาราม เปิดให้เข้าสักการะ ทุกวัน เวลา 08.00 - 18.00 น.
ตำแหน่งที่ตั้ง : ตั้งอยู่ริมแม่น้ำบางปะกง หมู่ที่ 11 ตำบลบางแก้ว อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา จังหวัดฉะเชิงเทรา
พิกัด : 13.72264, 100.52931  
การเดินทาง : ใช้ Google map โดยเลือกได้ 2 เส้นทาง คือ เส้นทางมอเตอร์เวย์ หรือเส้นทาง
มีนบุรี
 


ข้อมูลเนื้อหา เรื่องราว เขียนโดย นางสาวภาวิณี ผมงาม
ภาพถ่าย/ภาพประกอบ โดย นางสาวภาวิณี ผมงาม
ข้อมูล TKP อ้างอิง https://shorturl.asia/iT5xM









“จักสานพนัสนิคม” จังหวัดชลบุรี

 อาชีพท้องถิ่น “จักสานพนัสนิคม” จังหวัดชลบุรี

อำเภอพนัสนิคม เป็นชุมชนเก่าแก่ที่รุ่งเรืองมากกว่า 1,000 ปี มาแล้ว  “พนัสนิคม” มีความหมาย มาจาก พนัส ที่แปลว่า ป่า คำว่า นิคม แปลว่า หมู่บ้านใหญ่หรือตำบลพนัสนิคม แปลใจความได้ว่า หมู่บ้านใหญ่หรือตำบลที่มีภูมิประเทศเป็นป่า และเป็นเมืองที่มีไม้ไผ่อย่างอุดมสมบูรณ์  ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว(รัชกาลที่ 3) มีผู้นำชาวลาวที่มีความคุ้นเคยและนำไม้ไผ่มาจักสานเป็นผลิตภัณฑ์ จึงเกิดอาชีพจักสานพร้อมๆกับการตั้งชุมชน เครื่องจักสานพนัสนิคม เป็นเครื่องจักสานที่ผสมผสานระหว่างวัฒนธรรม ไทย ลาว จีน  นับเป็นการผสมผสานความรู้จากภูมิปัญญา ที่ทรงคุณค่ายิ่ง


ชาวบ้านในอำเภอพนัสนิค จะจักสานไม้ไผ่ไว้ใช้ในชีวิตประจำวัน  จักสานเครื่องมือ เครื่องใช้ในครัวเรือน อุปกรณ์ดักจับสัตว์น้ำ และอุปกรณ์ที่ใช้ในการประกอบอาชีพอื่นๆ เช่น กระจาด กระบุง ไซ ตะกร้า กระด้ง ชะลอม เป็นต้น นับว่าเป็นอาชีพที่ทำควบคู่กันมาพร้อมกับอาชีพทำนา และเป็นอาชีพที่สร้างรายได้ให้กับครอบครัว ทั้งยังอนุรักษ์อาชีพเดิมให้ยังคงอยู่คู่ชุมชน

ในปัจจุบันอาชีพจักสานของชาวพนัสนิคม  ได้มีการพัฒนาฝีมือและรูปแบบขึ้น จากเดิมเป็นการจักสานจากธรรมชาติ ต่อมาเริ่มมีการแลกเปลี่ยนซื้อขาย ก็ได้ประดิษฐ์คิดค้นลายใหม่ๆ ที่สวยงาม ผสมผสานรูปทรง ใช้ความประณีตทางศิลปหัตถกรรม ตอบสนองผู้บริโภค โดยการนำวัสดุอื่นมาประกอบให้ได้งานที่เพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์มากยิ่งขึ้น ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค หรือให้เป็นทางเลือกใหม่  เช่น การบุผ้าเครื่องจักสาน การจักสานหุ้มเซรามิค  มีการรวมกลุ่มของชาวบ้านในการทำจักสาน สู่การจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ และออกบูทแสดงสินค้า เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์งานศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านของพนัสนิคมให้เป็นที่รู้จักของตลาดอย่างกว้างขวาง 


ทั้งนี้ อาชีพจักสานยังไม้ไผ่ ยังส่งเสริมการนำวัตถุดิบในพื้นที่มาใช้ให้เกิดประโยชน์สนองตามพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง  เรียนรู้ถึงการอนุรักษ์ และพัฒนาอาชีพเดิมให้มีคุณค่าอยู่เสมอ และยังคงเจตนาสืบสานมรดกทางวัฒนธรรม โดยปราชญ์ผู้มีความรู้ความสามารถ มีทักษะในการจักสานที่ประณีต สวยงาม มีประสบการณ์ด้านการจักสาน ที่ได้รับการถ่ายทอดความรู้และฝึกฝน จากบรรพบุรุษ  ถ่ายทอดองค์ความรู้ จากรุ่นสู่รุ่น เป็นการอนุรักษ์อาชีพช่างจักสาน ผู้มีเจตนารมณ์ที่จะอนุรักษ์ศิลปหัตถกรรมพื้นบ้าน อันเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นแต่เดิมมาให้คงอยู่สืบไปสู่ลูกหลาน  

ข้อมูลเนื้อหา เรื่องราว เขียนโดย นางพิรุฬห์พร  ทำทอง  ครูผู้ช่วย
ภาพถ่าย/ภาพประกอบ โดย นางพิรุฬห์พร  ทำทอง ครูผู้ช่วย

ขนมจีน เส้นสด แม่สมใจ

ขนมจีน เส้นสด แม่สมใจ
นางสมใจ คงศิริ หรือ ป้าแอ๊ด ปัจจุบันอายุ 67 ปี อาศัยอยู่บ้านเลขที่ 31 หมู่ที่ 4 ตำบลเชิงเนิน อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง ทำอาชีพ ขายขนมจีนนี้มาช้านานสืบทอด มาจากบรรพบุรุษรุ่นสู่รุ่น เป็นเวลาร่วม 50 ปี มาแล้ว นับว่าเป็นขนมจีนเจ้าเก่าแก่แห่งหนึ่งของตำบลเชิงเนินที่มีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักของคนในพื้นที่ตำบลเชิงเนิน ขั้นตอนในการทำ ขนมจีน ป้าแอ๊ดจะใช้เตาฟืนในการต้มแป้ง เพื่อนำไปเข้าเครื่องโรยเส้นและใช้คนงานจับเส้นขนมจีนประมาณ 6-7 คน ต่อวัน จุดเด่นของขนมจีนป้าแอ็ด คือความสดใหม่ เน้นการทำเส้นขนมจีนวันต่อวัน ทุกขั้นตอนการทำป้าแอ็ด คำนึงถึงความสะอาดเป็นอันดับหนึ่ง


 
ขนมจีนเป็นผลิตภัณฑ์จากข้าวที่มีผู้นิยมรับประทานกันมาก พบได้ทุกหนทุกแห่งในประเทศไทย นับตั้งแต่ชนบทจนถึงเมืองใหญ่ นับตั้งแต่หาบเร่ แผงลอยจนถึง ร้านอาหาร ภัตตาคาร โรงแรม งานบุญและงานพิธี ทำให้ดูเหมือนคนไทยขาดขนมจีนไม่ได้ การที่ขนมจีนเป็นที่นิยมกันอย่างกว้างขวางนั้น เนื่องมาจากเป็นผลิตภัณฑ์ที่ปรุงรสได้หลายแบบ ทำให้ไม่เบื่อที่จะรับประทาน นอกจากนี้ยังสามารถดัดแปลงให้เข้ากับระบบการรับประทานของท้องถิ่นได้ดี แต่ความจริงแล้วขนมจีนได้ชื่อว่าเป็นผลิตภัณฑ์ชนิดเดียวที่ให้สารอาหารครบ  ตัวขนมจีนเป็นแหล่งคาร์โบไฮเดรต เครื่องปรุงรส เช่น น้ำยา น้ำพริก แกงเผ็ด แกงเขียวหวาน แกงขี้เหล็ก ให้ไขมันและโปรตีน ส่วนเครื่องเคียง เช่น ถั่วงอก มะระ โหระพา .ใบแมงลัก พริกชี้ฟ้า ถั่วฟักยาว ให้วิตามินและเกลือแร่ป้าแอ็ดจะทำขนมจีน ตั้งแต่ตี 3 เพื่อมาทำเส้นขนมจีน ผลิตจากแป้งสดไม่มีการหมัก มีเนื้อก่อนข้างกระด้าง สีขาวและไม่มีกลิ่นหมักวัดถุดิบที่ใช้ผลิต คือ

1. ข้าว รายละเอียดเกี่ยวกับข้าวที่ใช้ผลิตขนมจีนมีค่อนข้างจำกัด จากการไต่ถามผู้ประกอบอาชีพนี้ระดับชาวบ้าน ระดับอุตสาหกรรมในครัวเรือน และระดับโรงงานต่างก็มีความเห็นแตกต่างกัน อย่างไรก็ตามก็พอสรุปได้ว่า ขนมจีนนั้นไม่ต้องการความเหนียวมากนัก แต่ต้องการความนุ่มมากกว่าการเลือกข้าวที่ใช้จึงต้องพิถีพิถัน
2. น้ำ น้ำที่ใช้ผลิตควรเป็นน้ำสะอาด ถ้าเป็นน้ำประปาไม่ควรมีคลอรีนมากเกินไปจะทำให้ผลิตภัณฑ์มีกลิ่นผิดปกติ ถ้าใช้น้ำขุ่นจะทำให้ผลิตภัณฑ์มีสีคล้ำ
3. เกลือ เกลือที่ผสมในขนมจีนใช้เพื่อป้องกันการเน่า เพิ่มรส และลดความเปรี้ยวของขนมจีน อาจเป็นเกลือสมุทรหรือเกลือสินเธาว์ก็ได้ แต่ควรมีความขาว และบริสุทธิ์มากพอ
4. สีผสมอาหาร ในบางครั้งการทำขนมจีนอาจต้องการเพิ่มสีสันให้แก่ขนมจีน เช่น สีชมพู สีเหลือง สีม่วง และสีเขียว เป็นต้น เพื่อให้ขนมจีนมีสีสันที่น่ารับประทานมากขึ้น และช่วยดึงดูดความสนใจในทางการตลาดได้อีกทาง

ขั้นตอนการทำขนมจีน
ป้าแอ็ดจะใส่ใจรายละเอียดทุกขั้นตอนในการทำเส้นขนมจีน ต้องรักษาความสะอาด เส้นขนมจีนจะสดใหม่ทุกคน จะได้รับความนิยมจากแม่ค้าขายปลีกในตลาด มารับซื้อไปขายต่อในราคาส่ง จึงมีออเดอร์ในการผลิตเส้นขนมจีนทุกวัน และขายหมดทุกวัน มีกระบวนการทำ คือ
1.การทำความสะอาด และแช่ข้าวเป็นขั้นตอนแรก ที่ต้องใส่ใจมาก ด้วยการนำข้าวมาแช่น้ำ และล้างทำความสะอาด โดยเฉพาะสิ่งปนเปื้อนที่มักลอยอยู่ชั้นบนหลังแช่ข้าวในน้ำ ไม่ให้มีสิ่งสกปรกลงไปในข้าวแช่ หลังล้างเสร็จให้แช่ข้าวสักพัก ก่อนนำเข้าขั้นตอนการหมัก
2. การหมักข้าว การหมักข้าวเป็นกระบวนการที่ใช้จุลินทรีย์เข้าช่วยย่อยแป้ง และทำให้เกิดกลิ่น ด้วยการหมักข้าวทั้งแบบแห้ง และแบบแช่น้ำ แต่ทั่วไปนิยมหมักแห้งมากที่สุด การหมักแห้งเป็นวิธีการหมักที่ไม่ต้องแช่ข้าว แต่จะให้น้ำแก่เมล็ดข้าวเป็นช่วง ๆ เพื่อให้แป้งในเมล็ดข้าวมีการดูดซับน้ำ เกิดภาวะเหมาะสมของจุลินทรีย์ และทำให้นำมาบดได้ง่ายขึ้น ขั้นตอนการหมักมี ดังนี้
นำข้าวที่ล้างทำความสะอาดเสร็จแล้ว และแช่ได้เหมาะสมแล้ว ใส่ในภาชนะที่มีรูให้น้ำไหลผ่านได้ เช่น ตะกร้าไม้ไผ่ ตะแกรงลวด เป็นต้น การหมักจะเป็นการให้น้ำแก่เมล็ดข้าวทุกวันแบบไม่มีการแช่ ซึ่งมักจะหมักนาน 2-3 วัน
เมื่อหมักข้าวครบตามวันที่ต้องการ ให้สังเกตข้าวที่พร้อมนำมาใช้ ซึ่งจะมีลักษณะเม็ดพองโต มีสีใสออกคล้ำเล็กน้อย เมื่อบีบจะเปื่อยยุ่ยง่าย มีกลิ่นแรงจากการหมัก ซึ่งถือว่าลักษณะเหล่านี้เหมาะสำหรับนำมาบดขั้นต่อไป
3. การบดข้าว เป็นขั้นตอนนำข้าวมาบดผ่านเครื่องบดเพื่อให้เมล็ดข้าวแตกเป็นผงขนาดเล็ก โดยมักบดขณะที่ข้าวอิ่มน้ำ ร่วมกับเติมน้ำขณะบด โดยข้าวที่บดจะแตกเป็นผงละลายมากับน้ำ ผ่านผ้าขาวสำหรับกรองให้ไหลลงตุ่ม ซึ่งในขั้นตอนนี้อาจเติมเกลือประมาณ 4 ส่วน สำหรับป้องกันการเติบโตของเชื้อจุลินทรีย์
4. การนอนแป้ง การนอนแป้งเป็นขั้นตอนที่ใช้ในระดับครัวเรือน ด้วยการแช่น้ำแป้งให้ตกตะกอน น้ำแป้งส่วนบนจะมีสีเหลือง และสิ่งปนเปื้อนสีดำคล้ำจะลอยอยู่บนสุด ในขั้นตอนนี้จะทำการล้างน้ำแป้ง ด้วยการให้น้ำ และปล่อยให้ตกตะกอน ซึ่งจะทำให้แป้งขาวสะอาด และมีกลิ่นน้อยลง
5. การทับน้ำหรือการไล่น้ำขั้นตอนนี้เป็นวิธีการกำจัดน้ำออกจากน้ำแป้ง ด้วยการนำน้ำแป้งใส่ผ้าขาวที่มัดห่อให้แน่น แล้วนำของหนักมาทับเพื่อให้น้ำไหลซึมผ่านออก ขั้นตอนนี้จะใช้เวลาประมาณ 1 วัน หลังจากนั้นจะได้ก้อนแป้งที่มีน้ำประมาณ 40-50 เปอร์เซ็นต์
6. การต้มหรือนึ่งแป้ง เป็นขั้นตอนที่ทำให้แป้งสุกประมาณ 25-35 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้น เพื่อไม่ให้แป้งเหนียวมากเกินไป ใช้วิธีการนึ่งปั้นแป้งเป็นก้อนๆ เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 20-25 ซม. นำใส่เสวียนหย่อนลงต้มในน้ำเดือด โดยให้แป้งสุกเข้าด้านในประมาณ 1-3 ซม. เท่านั้น อย่าให้แป้งสุกลึกมาก เพราะจะทำให้โรยเส้นได้ยาก
7. การนวดแป้ง เป็นขั้นตอนการนำก้อนแป้งมาบี้ให้ส่วนแป้งสุก และแป้งดิบผสมกัน ซึ่งอาจใช้มือหรือเครื่องจักรหรือครกไม้สำหรับชาวชนบท โดยสังเกตเนื้อแป้งขณะนวด หากแป้งแห้งมากให้ผสมน้ำร้อน หากแป้งเหนียวติดกันมากให้ผสมแป้งดิบ ก้อนแป้งที่เหมาะสำหรับโรยเส้นนั้น ผสมข้าวประมาณ 1 กิโลกรัม ที่ทำให้ได้ก้อนแป้งเหลวหนักประมาณ 3-3.5 กิโลกรัม มีลักษณะเป็นก้องแป้งอ่อนออกเหลวเล็กน้อย ในขั้นตอนการนวดแป้ง หากต้องการเพิ่มสีสันขนมจีนให้มีสีต่างๆจะทำในขั้นตอนนี้ ด้วยการเทสีผสมอาหารผสมลงนวดพร้อมก้อนแป้งให้มีสีเนื้อเข้ากัน



8. การกรองเม็ดแป้ง ในบางครั้งแป้งสุกอาจจับเป็นก้อนในขั้นตอนการนวดแป้ง หากนำไปโรยเส้นอาจทำให้เส้นขนมจีนไม่ต่อเนื่องได้ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องกรองแป้งหลังนวดด้วยผ้าขาวเสียก่อนเพื่อกำจัดก้อนแป้งสุกออกไปให้หมด
9. การโรยเส้น การโรยเส้นเป็นขั้นตอนสำคัญที่ทำให้ขนมจีนเป็นเส้น ด้วยการบีบดันก้อนแป้งเหลวให้ไหลผ่านรูขนาดลงในน้ำเดือดเพื่อทำให้เส้นสุก โดยยังคงรูปเส้นเหมือนเดิม โดยจะใช้แว่นจะมีลักษณะเป็นแผ่นโลหะทรงกลมที่มีรูขนาดเล็กจำนวนมาก แว่นนี้จะถูกเย็บติดแน่นกับถุงผ้าที่ใช้สำหรับใส่ก้อนแป้งเหลว หลังจากนั้น รวบปลายผ้าเข้าหากัน และบีบดันแป้งให้ไหลผ่านรูลงหม้อต้มเมื่อบีบเส้นลงหม้อต้มแล้ว ให้พยายามรักษาความร้อนให้คงที่ และรอจนกว่าเส้นขนมจีนจะลอยตัวจึงใช้ตะแกรงหรือกระชุตักขึ้นมา
10. การทำให้เย็น และจัดเรียงเส้น เป็นขั้นตอนสุดท้ายในการทำขนมจีน ภายหลังจากต้มเส้นให้สุกลอยขึ้นด้านบนหม้อแล้ว ต่อมาจะใช้ตะแกรงหรือกระชุตักเส้นขนมจีนขึ้นมา แล้วจุ่มลงน้ำเย็นทันที รอจนเส้นเย็นพร้อมสามารถใช้มือจับได้ เมื่อเส้นเย็นให้ใช้มือข้างที่ถนัดจับเส้นขึ้นมาพันรอบฝ่ามืออีกข้างที่วางในแนวตั้ง จนกระทั่งหมดความยาวเส้น พร้อมวางใส่ภาชนะบรรจุหรือตะแกรงที่มีช่องให้น้ำไหลผ่านได้ และเป็นภาชนะที่พร้อมส่งจำหน่ายได้ทันทีหรืออาจวางเรียงให้แห้งก่อนค่อยจัดเรียงในภาชนะจำหน่าย ทั้งนี้ พยายามเรียงเส้นให้เป็นแนวสม่ำเสมอ

ปัจจุบันป้าแอ๊ดได้ใช้แป้งสำเร็จในการทำขนมจีน ซึ่งทำให้ลดขั้นตอนการผลิต และง่ายต่อการทำเส้นขนมจีน ป้าแอ๊ดทำขนมจีนส่งลูกค้าประจำและขายปลีกด้วย ปริมาณวันละ 500-800 กิโลกรัม ราคาขายอยู่ที่ประมาณ 22-25 บาท ต่อกิโลกรัม ใช้เวลาในการทำต่อวันประมาณ 8 ชั่วโมง เริ่ม จากเวลา 03.00-10.00 น. ขายทั้งปลีก และส่ง โดยส่งให้กับแม่ค้าที่มารับไปขายในตลาดและขายหน้าบ้าน ชื่อร้านว่า บ้านขนมจีน แม่สมใจ (ท.บริการ) และปัจจุบันป้าแอ๊ดได้ถ่ายทอดภูมิปัญญาอาชีพของตนให้กับลูกสาวของท่าน เป็นผู้สืบทอดกิจการต่อไป


ข้อมูลเนื้อหา เรื่องราว เขียน โดย นางสาวชริสรา เคหาวิตร
ภาพถ่าย/ภาพประกอบ โดย นางสาวชริสรา เคหาวิตร





บุราณบ้านสวน

บุราณบ้านสวน


“บุราณบ้านสวน” เป็นศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง ตั้งอยู่หมู่ที่ 4 ชุมชนสามแยกบ้านสวน ตำบลร่อนทอง อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มีนายประเสริฐ ยุวกาฬกุล จากหนุ่มช่างกลเมืองพัทลุงเมื่อแต่งงานและย้ายถิ่นฐานมาอยู่ที่ตำบลร่อนทอง อำเภอบางสะพานสู่การเป็นเกษตรกรต้นแบบด้านเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่ เป็นผู้ดำเนินกิจกรรม ภายในในศูนย์การเรียนรู้ซึ่งเป็นผู้ที่มีความรู้ ความสามารถ มีจิตอาสา มีแนวทางและความมุ่งมั่นที่จะดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เป็นเกษตรต้นแบบด้านเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่ได้น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร มาปรับใช้ในการทำเกษตร และเปิดเป็นศูนย์เรียนรู้เพื่อเผยแพร่ความรู้ในการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ให้แก่คนในชุมชนและผู้ที่สนใจทั่วไปได้ศึกษาเรียนรู้ ซึ่งมีผู้ให้ความสนใจและเข้าศึกษาดูงานทั้งรายบุคคล และกลุ่มหน่วยงาน เป็นจำนวนมาก โดยเริ่มแรก นายประเสริฐ ยุวกาฬกุล มีการใช้ปุ๋ยเคมี ยาฆ่าแมลง และยาปราบวัชพืช ในการปลูกพืชผัก ผลไม้ แต่พบว่าการใช้สารเคมีทำให้มีต้นทุนการผลิตสูง แถมประสบปัญหาแพ้สารเคมี จึงตัดสินใจเลิกใช้สารเคมีอย่างเด็ดขาด และหันมาทำเกษตรอินทรีย์แบบผสมผสาน เน้นเรื่องความปอดภัย นอกจากจากการปลูกพืชผักแล้ว ยังมีการแบ่งพื้นที่ในการทำนาข้าว เพื่อจำหน่ายและปลูกข้าวพันธุ์ พันธุ์ข้าวที่ปลูก ได้แก่ ข้าวสังข์หยด ข้าวไรซ์เบอร์รี่ ข้าว กข 43 ข้าวหอมใบเตย และข้าวหอมปทุม โดยจะปลูกหมุนเวียนสลับกับการปลูกข้าวในแต่ละพันธุ์ ในแต่ละรอบเพื่อลดความเสี่ยงต่อโรคและแมลง เน้นปลูกข้าวเพื่อการแปรรูปเพิ่มมูลค่าข้าวในลักษณะข้าวบรรจุถุง มีการติดตั้งเครื่องสีข้าวขนาดเล็กในครัวเรือน โรงสีข้าวขนาดกลาง เครื่องคัดแยกเมล็ดข้าว เครื่องบดเมล็ดข้าว เครื่องบรรจุแบบสุญญากาศ เป็นการทำกันเองภายในครัวเรือน และคนในชุมชนซึ่งจะมีการประกันราคาข้าว เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้ปลูกข้าวมีกำลังใจในการทำ เหลือจากการรับประทานในครัวเรือนแล้ว สามารถส่งมาสีข้าวเพื่อสร้างรายได้ให้กับครอบครัว ถือเป็นการช่วยเหลือกันในชุมชน โดยข้าวที่มีการนำมาจัดจำหน่ายนั้น จะเป็นข้าวที่ปลอดสารพิษ มีขั้นตอนการผลิตที่ปลอดภัย จึงเหมาะสำหรับกลุ่มคนรักสุขภาพ ที่มีทั้งประชาชนในพื้นที่และต่างพื้นที่แวะเวียนมาซื้อข้าวกันเป็นจำนวนมาก หลังจากนั้น จึงได้จัดตั้งเป็น “วิสาหกิจชุมชนกลุ่มข้าวกลุ่มผลิตข้าวกล้องเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริ” (รหัสทะเบียน : 2-77-04-03/1-0030) ได้รับมาตรฐาน GAP พืชอาหาร (กษ 09-4401-77-007-000002) ซึ่งการปลูกข้าวเป็นการสร้างรายได้ให้กับชุมชน เป็นแหล่งเรียนรู้และพัฒนาสิ่งใหม่ ๆ รวมทั้งเป็นการอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นในเรื่องการทำนาปลูกข้าวที่มีมาแต่สมัยโบราณที่มีการร่วมมือร่วมใจกันของคนในชุมชน ไม่ใช้เครื่องทุ่นแรงในการปลูก ก่อให้เกิดความรักสามัคคี ในชุมชน ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวบ้านในชุมชนให้ดีขึ้น รู้จักการสร้างรายได้และใช้จ่ายอย่างประหยัดตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ทำให้ชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นสามารถพึ่งพาตนเองได้ ชุมชนเข้มแข็งมากขึ้น โดยใช้หลักความพอประมาณ ความมีเหตุมีผลเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันที่ดี ในการประกอบอาชีพตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงของคนในชุมชน มีความมุ่งมั่นเผยแพร่ความรู้การทำเกษตรทฤษฎีใหม่ให้แก่คนในชุมชนและผู้สนใจได้เอาเป็นแบบอย่าง เน้นผลิตสินค้าเกษตรปลอดสารพิษ ทำให้พื้นที่บ้านนายประเสริฐ ยุวกาฬกุล แห่งนี้ได้รับการพัฒนาเป็น “ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงบุราณบ้านสวน” “บุราณบ้านสวน” ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง แห่งนี้มีการผสมผสาน ทั้งการปลูกพืชผัก ไม้ผล ไม้ยืนต้น พืชสมุนไพร กว่า 200 ชนิด ทั้งยางพารา ปาล์มน้ำมัน มะพร้าว กล้วย เงาะ ทุเรียน มังคุด ฝรั่ง แก้วมังกร ขนุน หมาก สะตอ กระท้อน มะขามเปรี้ยวยักษ์ ผักกูด ผักเหลียง ผักหวานบ้าน ชะอม ตำลึง มะเขือ ผักบุ้ง ไผ่หวาน คะน้า พริก รวมทั้งปลูกพืชสมุนไพร เช่น พริกไทย บอระเพ็ด ขมิ้นชัน รางจืด ขิง ตะไคร้ นอกจากนี้ ยังปลูกไม้เศรษฐกิจ เช่น ไม้ตะเคียน ขี้เหล็ก สัก สะเดา ไผ่ ยางนา มีการเลี้ยงไก่ เลี้ยงปลา เลี้ยงโค ทำนาปลูกข้าวไว้บริโภคในครัวเรือน โดยใช้หลักความพอประมาณ ความมีเหตุมีผล เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีในการประกอบอาชีพตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง มีฐานเรียนรู้ให้กับผู้ที่มีความสนใจเข้ามาศึกษาเรียนรู้มากมายหลายฐาน ได้แก่ ฐานการเรียนรู้ผักพื้นบ้านเรา ฐานน้ำหมักมีชีวิต ฐานข้าวอินทรีย์ ฐานไก่ไข่อารมณ์ดี ฐานพี่ปลาดุก น้องหอยขม ฐานตลาดเกษตรชุมชน และฐานเกษตรเพื่อพ่อ มีการทำเกษตรอินทรีย์แบบผสมผสาน ไม่มีการใช้สารเคมีในพื้นที่ทำเกษตรทั้งหมด นอกจากนี้ยังมีการแบ่งพื้นที่ให้กับผู้สูงอายุและคนในชุมชนมาปลูกพืชผัก ได้มาทำกิจกรรมร่วมกันเพื่อใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์และมีรายได้ให้กับครอบครัว 


จากนั้นจะนำพืชผลทางการเกษตรมาวางจัดจำหน่ายหน้าบ้านและตามตลาดเกษตรกร ธกส.หน้าโรงพยาบาลให้ประชาชนได้บริโภคพืชผลที่ปลอดสารพิษและช่วยให้คนในชุมชนมีรายได้โดยเน้นการปลูกเอง ขายเอง ซึ่งก็ทำให้เห็นว่าผลผลิตจากศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้ เป็นที่ต้องการของตลาด และสร้างรายได้ให้กับชุมชนได้อย่างยิ่งยืนโดยที่นายประเสริฐ มีแนวทางและมีความมุ่งมั่นตั้งใจอย่างมากที่จะเผยแพร่ความรู้และแนวทางในการทําการเกษตรทฤษฎีใหม่ของในหลวงรัชกาลที่ 9 ให้แก่คนในชุมชนและผู้ที่สนใจ โดยยึดหลัก “พูดให้ฟัง ทําให้ดู” และทําบริเวณบ้านของเขาให้เป็น ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงชุมชนบ้านสวน เพื่อเป็นตัวอย่างให้แก่คนในชุมชม เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เรื่อง "การเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดําริ” เน้นการใช้แรงงานในครอบครัวเป็นหลัก สมาชิกในครอบครัวช่วยกันทําการเกษตร โดยยึดหลัก ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ทําให้นายประเสริฐ ยุวกาฬกุล และกลุ่มสมาชิกในชุมชนมีรายได้ ทั้งรายวัน รายสัปดาห์ รายเดือน และรายปี จากศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงบุราณบ้านแห่งนี้ ซึ่งนายประเสริฐ ยุวกาฬกุล ยังได้ให้ข้อคิดในช่วงสถานการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 นั้น ชุมชนบ้านสวนได้รับผลกระทบเพียงเล็กน้อย เพราะในชุมชนมีการช่วยเหลือแบ่งปันซึ่งกันและกัน “บุราณบ้านสวน” ไม่เพียงแต่เป็นสถานที่ที่มีการการปลูกพืช ผัก ผลไม้ แต่ถือเป็นสถานที่และแหล่งเรียนรู้ที่มีประโยชน์และมีคุณค่าของคนในชุมชนและผู้ที่สนใจเรียนรู้ในการทำเกษตร แบบผสมผสาน เกษตรทฤษฎีใหม่ ส่งเสริมการตลาด เพราะเมื่อมีการปลูกไว้รับประทานภายในครัวเรือนแล้ว การส่งเสริมสนับสนุนด้านตลาดก็มีความจำเป็น เพราะประชาชนบางราย ปลูกแล้วไม่มีที่จำหน่าย ก็ไม่ทำให้เกิดรายได้แต่ “ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงบุราณบ้านสวน”



นอกจากส่งเสริมสนับ เผยแพร่ความรู้ในด้านการทำเกษตรผสมผสาน การทำเกษตรทฤษฎีใหม่ พร้อมยังส่งเสริมสนับสนุนพื้นที่และช่องทางการจัดจำหน่ายให้กับคนในชุมชน ให้มีรายได้ได้พึ่งพาตนเอง ช่วยเหลือเกื้อกูล ทุกคนในชุมชนมีความสุข ตามแนวพระราชดำริ ของในหลวงรัชกาลที่ 9 รวมถึงเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับคนในชุมชนและนักศึกษา กศน.อำเภอบางสะพานในเรื่องการดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เชิงประจักษ์ที่ชัดเจน กศน.ตำบลร่อนทอง ได้ให้ความสำคัญในเรื่องแหล่งเรียนรู้ในชุมชน จึงได้จัดทำเนียบ แหล่งเรียนรู้ “ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงบุราณบ้านสวน” ให้เป็นที่ศึกษาเรียนรู้ของนักศึกษา กศน.ตำบลร่อนทอง โดยนายประเสริฐ ยุวกาฬกุล ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินการพัฒนาการศึกษา ส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยบางสะพาน อย่างต่อเนื่อง ทั้งเข้ามาเป็นคณะกรรมการสถานศึกษา เป็นวิทยากรให้ความรู้แก่นักศึกษา กศน. ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน นักศึกษาเทียบระดับการศึกษา ประสานความร่วมมือในการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การจัดกิจกรรมศูนย์ฝึกอาชีพชุมชน กิจกรรมการศึกษาต่อเนื่อง กิจกรรมการศึกษาตามอัธยาศัย อำนวยความสะดวกเรื่องสถานที่จัดกิจกรรม รวมถึงเป็นแหล่งเรียนรู้ และเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับนักศึกษา กศน.อำเภอบางสะพาน ในเรื่องการดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเชิงประจักษ์ที่ชัดเจนในเรื่องของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อให้บุคลากร กศน. นักศึกษา กศน. รวมถึงกลุ่มเป้าเหมายประชาชนทั่วไปที่เข้าร่วมกิจกรรมกับกศน.อำเภอบางสะพานมีความตระหนักและเห็นคุณค่าการดำรงชีวิตตามแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง 


ข้อมูลเนื้อหา  นายประเสริฐ ยุวกาฬกุล เขียนโดย นางสาวรุ้งทราย กลิ่นประยูร 
ภาพถ่าย/ภาพประกอบ นางสาวรุ้งทราย กลิ่นประยูร 
ข้อมูล TKP อ้างอิง https://sites.google.com/dei.ac.th/tkp-prachaup-nfe/home




ศูนย์เรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง กศน.ตำบลละงู

 

ประวัติความเป็นมา

ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยตำบลละงู อำเภอละงู ตั้งอยู่หมู่ที่ 12 อำเภอละงู จังหวัดสตูล สังกัดสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยจังหวัดสตูล ได้ผ่านการประเมินสถานศึกษาแบบอย่างการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนและการบริหารจัดการตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (สถานศึกษาพอเพียง) เมื่อปี พ.ศ. 2556 จากนั้นได้มีการพัฒนาตนเอง หลักสูตรและแหล่งเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้บริหาร ครูและบุคลากรทางการศึกษา นักศึกษา มีความรู้ความเข้าใจในหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และดำเนินชีวิตได้อย่างมีความสุขตามอัตภาพ ส่งผลให้สถานศึกษาประสบผลสำเร็จในเรื่องแหล่งเรียนรู้ และมีการขยายผลสู่ชุมชนทำให้มีอาชีพ สร้างรายได้จากการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์หลังจากเสร็จสิ้นจากการประกอบอาชีพหลัก นอกจากนี้ยังได้ขยายผลสู่สถานศึกษาอื่นเป็นภาคีเครือข่าย รับการถ่ายทอดหลักคิด การทำงาน การดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

จากการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556 สถานศึกษาประสบความสำเร็จหลายอย่าง สถานศึกษามีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ผู้บริหาร ครูและบุคลากรทางการศึกษา นักศึกษา ผู้ปกครอง ชุมชน เข้าใจและสามารถน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่วิถีชีวิตได้อย่างยั่งยืน จึงเห็นสมควรที่พัฒนาตนเองให้ก้าวสู่การเป็นศูนย์การเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ด้านการศึกษา โดยมีโครงการจัดกระบวนการเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

ต่อมาศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอละงู ได้เห็นความสำคัญของโครงการจัดกระบวนการเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง จึงได้มีการพัฒนาต่อยอด ตามรอยพ่อหลวง มีการพัฒนาเป็นแหล่งเรียนรู้ ศูนย์เรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ภายใน กศน.ตำบลละงู ได้มีการส่งเสริมและพัฒนา กศน.ตำบลละงู โดยมีเนื้อที่ทั้งหมดอาณาเขตตำบลละงู มีอาณาเขตติดต่อกับเขตการปกครองข้างเคียงดังต่อไปนี้ 

ทิศเหนือ               ติดต่อกับตำบลเขาขาว
ทิศใต้                    ติดต่อกับตำบลปากน้ำ ทะเลอันดามัน
ทิศตะวันออก        ติดต่อกับอำเภอท่าแพ
ทิศตะวันตก          ติดต่อกับตำบลกำแพง

ทิศทางความสำเร็จ

1. เพื่อให้ความรู้ในเรื่องที่เกี่ยวกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงให้กับประชาชน
2. เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์ใช้ในการดำรงชีวิต


“วิธีการพัฒนาสถานศึกษาพอเพียงให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้านการศึกษา”

1. ศึกษา วิเคราะห์ วิจัยแนวทางการนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปจัดการศึกษา
2. จัดทำแนวทางการจัดการเรียนรู้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่การเรียนการสอนโดยสอดแทรกทั้งในการจัดการเรียนการสอนทุกรายวิชาและกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนเพื่อให้เกิดการพัฒนาตามลำดับอย่างเป็นระบบเพื่อให้เกิดการพัฒนาการเรียนรู้ระดับบุคคลและครอบครัว สามารถนำไปประยุกต์ใช้นำไปขยายผลสู่ครอบครัวและชุมชนเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติ
3. อบรมสัมมนาผู้บริหารการศึกษาให้เกิดความรู้ ความเข้าใจในการนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ในการบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล
4. อบรมและพัฒนาผู้บริหารสถานศึกษา ข้าราชการครู และบุคลากรทางการศึกษาให้สามารถนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปบูรณาการสู่การบริหาร การจัดการและการเรียนการสอน
5. จัดให้มีระบบการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และส่งเสริม สนับสนุน การประสานการดำเนินงานของเครือข่าย
6. จัดทำระบบข้อมูลสารสนเทศ ป้ายนิเทศและเชื่อมโยงเครือข่ายกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ภาพกิจกรรมการปรับปรุงสถานที่
             ปลูกต้นไม้บนคันคู และหว่านปอเทืองทำปุ๋ยพืชสด
  










       
             
เรียบเรียงเนื้อหาและภาพถ่าย โดย นางจินตนา หลงเก็ม ครู กศน.ตำบล 

ดาวน์โหลดเอกสาร

ข้อคิดเห็นจากเครือข่าย TKP

 
Copyright © 2018 Thailand Knowledge Portal. Designed by OddThemes > Developed by mediathailand