TKP HEADLINE

สะพานปรมินทร์

 

สะพานปรมินทร์

ตำบลบ้านดารา อำเภอพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์

        “สะพานปรมินทร์” หรือที่เรียกกันว่า “สะพานบ้านดารา”เป็นสะพานรถไฟข้ามแม่น้ำน่าน ซึ่งอยู่ใต้สถานีรถไฟชุมทางบ้านดารา ก่อสร้างเมื่อมีทางรถไฟมาถึงอุตรดิตถ์ โดยช่างชาวเยอรมันใน ร.ศ.125 (พ.ศ.2449) และสร้างเสร็จ เมื่อร.ศ.128 (พ.ศ.2452) เป็นสะพานในสมัยสงครามโลกครั้ง 2

 สะพานปรมินทร์ ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของสถานีรถไฟชุมทางบ้านดารา ซึ่งในอดีต "บ้านดารา" เป็นนามพระราชทานขององค์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในคราวที่เสด็จผ่านมาโดยขบวนรถไฟ ซึ่งเป็นรถจักรไอน้ำ ได้จอดพักเพื่อเติมน้ำเติมฟืนอยู่เป็นเวลานาน พระองค์ได้ทรงตรัสถามพนักงานรถไฟ ว่าที่นี่ที่ไหน ทำไมรถจึงจอดนาน พนักงานรถไฟได้กราบทูลว่าเป็นสถานีเติมน้ำเติมฟืนรถไฟ ยังไม่มีชื่อ เมื่อพระองค์ได้ทรงทราบ จึงได้พระราชทานนามให้ที่แห่งนี้ว่า "บ้านดารา" ตามพระนามของพระราชชายาของพระองค์ คือ พระราชชายา เจ้าดารารัศมี


        เมื่อครั้งการก่อสร้างเส้นทางรถไฟสายเหนือมุ่งสู่เชียงใหม่ มีแม่น้ำสายใหญ่ที่จะต้องตัดข้าม คือแม่น้ำน่าน ซึ่งเป็นสาขาหนึ่งของแม่น้ำเจ้าพระยา อยู่พื้นที่ตำบลบ้านดารา แขวงเมืองพิไชย มณฑลพิษณุโลก จึงได้ก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำแห่งนี้ขึ้นมาเมื่อปี พ.ศ.2449 ลักษณะสะพานเป็นสะพานแบบคานยื่น ประกอบด้วยสะพานเหล็ก 3 ช่วง และมีสะพานช่วงธรรมดาแขวนห้อยอยู่ที่ตรงกลางของช่วงกลางบนสะพานมีทางรถไฟ 1 เส้นทาง 
        เมื่อดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จ ได้ประกอบพระราชพิธีเปิดสะพาน เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม
พ.ศ.2452 โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามสะพานแห่งนี้ว่า สะพานปรมินทร์





        ระหว่างปี พ.ศ. 2485 - 2488 ประเทศไทยเข้าสู่ภาวะสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นยกพลบุกประเทศไทย ไทยจำยอมให้ญี่ปุ่นเดินทัพผ่านเพื่อไปยึดพม่า โดยอาศัยเส้นทางรถไฟของไทยลำเลียงพลขึ้นไปทางเชียงใหม่ และเข้าพม่าทางแม่ฮ่องสอน ซึ่งฝูงบินฝ่ายสัมพันธมิตรตั้งฐานบินอยู่ที่เมืองกัลกัตตา ภายใต้การปกครองของจักรภพ ได้ระดมทิ้งระเบิดตัดการลำเลียงพลและสัมภาระเครื่องยุทโธปกรณ์ต่าง ๆ ของญี่ปุ่น โดยสะพานปรมินทร์ถูกโจมตีครั้งแรก เมื่อวันที่ 24 เมษายน พ.ศ.2487 เป็นเหตุให้สะพานชำรุด รถไฟข้ามไม่ได้ จึงรีบซ่อมเป็นการด่วน แต่พอวันรุ่งขึ้นเดือนเดียวกัน เครื่องบินก็มาทิ้งระเบิดซ้ำอีกหลายครั้ง พยายามโจมตีวันเว้นวันเพิ่มขนาดร้ายแรงขึ้นทุกเที่ยว เฉพาะสะพานบ้านดาราแห่งเดียวรวมได้ประมาณถึง 29 ครั้ง

        สะพานบ้านดารา พังยุบเฉพาะการมาทิ้งระเบิดและการยิงกราดด้วยปืนกล ในวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ.2488 โดยลูกบอมบ์ขนาดใหญ่ร้อยโซ่เป็นพวงเหวี่ยงลงกลางสะพาน หวังทำลายเป็นครั้งสุดท้ายอย่างสุดฤทธิ์ และก็ได้ผลไม่ผิดหวังสะพานเหล็กได้ยุบฮวบลงทันที สะพานพังลงไปในแม่น้ำเป็นบางส่วน ใช้ข้ามไปมาไม่ได้ การโจมตีของฝ่ายอังกฤษ - อเมริกา ครั้งนี้ ทำให้อุตรดิตถ์ต้องสูญเสียสิ่งก่อสร้างสำคัญ คือ สถานีรถไฟอุตรดิตถ์ โรงไฟฟ้าอุตรดิตถ์ โรงซ่อมรถจักรอุตรดิตถ์ สะพานปรมินทร์ และชีวิตของประชาชนไปไม่น้อย

         ภายหลังสถานการณ์ของประเทศกลับคืนเข้าสู่ปกติ ได้ลงมือสร้างสะพานขึ้นมาใหม่ เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2489 เป็นโครงสะพานเหล็กชั่วคราวแบบญี่ปุ่น เป็นโครงแบบง่ายประกอบคล้ายของเด็กเล่น ซึ่งญี่ปุ่นได้เตรียมไว้ใช้ในการสงคราม

        เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ.2489 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้เป็นประธานพิธีเปิดให้ขบวนรถผ่านสะพานเป็นปฐมฤกษ์ ต่อมากรมรถไฟได้ดำเนินการบูรณะซ่อมสร้างสะพานปรมินทร์ ให้มีความสวยงาม มั่นคง แข็งแรง

QR Code แผนที่ สะพานปรมินทร์



ข้อมูลเนื้อหา : จาก เฟซบุ๊ค อุตรดิตถ์ 24 ชั่วโมง https://www.facebook.com/ut24hrs
เรียบเรียง : นางสาวบุญเรือง จันทร์พรม ครู กศน.ตำบลบ้านดารา กศน.อำเภอพิชัย
สำนักงาน กศน.จังหวัดอุตรดิตถ์
ภาพประกอบ : นายวิชัย โล่ประเสริฐ / เฟซบุ๊ค อุตรดิตถ์ 24 ชั่วโมง / นางสาวบุญเรือง จันทร์พรม
ข้อมูล TKP อ้างอิง : https://253uttaradit.blogspot.com/2020/07/blog-post_39.html?m=0

Share this:

Post a Comment

ข้อคิดเห็นจากเครือข่าย TKP

 
Copyright © 2018 Thailand Knowledge Portal. Designed by OddThemes > Developed by mediathailand