คำว่า "พระขพุงผี" แปลว่า ผีที่เป็นใหญ่กว่าผีทั้งหลาย ซึ่งมีการตีความว่าเป็น ผีพระแม่ย่า หรือนางเสืองนั่นเอง สาเหตุที่เรียกว่า "พระแม่ย่า" เนื่องจากคนสมัยก่อนนับถือกษัตริย์ว่าเป็นพ่อ ดังนั้นแม่ของพ่อ (กษัตริย์) จึงเรียกว่า ย่า แปลโดยรวมว่า ย่าผู้เป็นแม่ของพระมหากษัตริย์
ต่อมามีการค้นพบเทวรูปที่สันนิษฐานว่าเป็นรูปสลักนางเสืองอยู่ที่ถ้ำพระแม่ย่าบนเขาพระแม่ย่า ในอุทยานแห่งชาติรามคำแหง และนำมาประดิษฐานไว้ที่ศาลพระแม่ย่าที่หน้าศาลากลางจังหวัดสุโขทัยจวบจนปัจจุบันนี้ ของที่นิยมนำมาถวายแก้บนเทวรูปพระแม่ย่า คือ ขนมหม้อแกง ทางจังหวัดสุโขทัย จะมีการจัดงานสักการะพระแม่ย่าพร้อมกับงานกาชาดราวเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ ของทุก ๆ ปี ปัจจุบันมีการนำลักษณะเครื่องแต่งกายของเทวรูปพระแม่ย่าไปประยุกต์เป็นชุดของนางระบำในระบำสุโขทัย
ลักษณะเด่น
ถ้ำพระแม่ย่า เป็นเพิงหินขนาดใหญ่ อยู่ภายในบริเวณวัดถ้ำพระแม่ย่า อยู่ภายในพื้นที่ความรับผิดชอบของอุทยานแห่งชาติรามคำแหง ตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติรามคำแหง ตำบลนาเชิงคีรี อำเภอคีรีมาศ ห่างจากที่ทำการอุทยานฯ ประมาณ 25 กิโลเมตร เป็นที่ประดิษฐานเดิมของพระแม่ย่า ซึ่งเป็นพระพุทธรูปโบราณสมัยสุโขทัย อันเป็นที่เคารพสักการะของชาวสุโขทัย
ศาลพระแม่ย่า เป็นสถานที่ 1 ใน 10 ของ "10 สิ่งที่ต้องทำในสุโขทัย" นั่นคือ "การไหว้สักการะพระแม่ย่า" เนื่องจากเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองสุโขทัยอีกสิ่งหนึ่ง เดิมพบองค์พระแม่ย่าที่เพิงหินบนยอดเขาสูงที่สุดยอดหนึ่งของเขาหลวง ในเขตบ้านโว้งบ่อ ตำบลนาเชิงคีรี อำเภอคีรีมาศ จังหวัดสุโขทัย คือ เขาแม่ย่า หรือ เขาน่าย่า ซึ่งอยู่ห่างจากเมืองสุโขทัยเก่าไปประมาณ 7 กิโลเมตร เพิงหินที่พบเทวรูปนั้น ปัจจุบันก็เรียกกันว่า ถ้ำพระแม่ย่า ชาวบ้านแถวนั้นมีความเชื่อว่าหากไหว้สักการะขอพรใด ๆ ก็จะสมปรารถนาในทุกเรื่อง และในช่วงสงกรานต์มีประเพณีแห่แหนพระแม่ย่า เพื่อให้ฝนตกตามฤดูกาล เพราะทุกครั้งที่แห่แหนประแม่ย่าก็จะมีฝนตกลงมาอย่างน่าอัศจรรย์
จากศิลาจารึกหลักที่ 1 นักประวัติศาสตร์และโบราณคดีได้สันนิษฐานว่า พระขพุงผี หมายถึง เทวรูปและเป็นเทพที่ยิ่งใหญ่กว่าผีทั้งหลายในเมืองนี้ และน่าจะเป็นองค์พระแม่ย่า ที่สร้างอุทิศแด่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้วคือ พระนางเสือง พระราชมารดาของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช แต่ยังไม่มีข้อยุติ และชาวบ้านส่วนมากเชื่อว่า พระแม่ย่า คือ พระนางเสือง พระราชมารดาของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช พระแม่ย่าของพระยาเลอไท ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินเรียกพระมหากษัตริย์ว่า พ่อเมือง จึงเรียกพระราชมารดาของพ่อเมืองว่า "แม่ย่า"
ในปี พ.ศ. 2486 ผู้ว่าราชการจังหวัดเห็นว่า ถ้าแห่แหนบ่อย อาจจะทำให้องค์พระแม่ย่าเกิดเสียหายได้ จึงสร้างองค์จำลองไว้ที่ถ้ำพระแม่ย่า และอันเชิญองค์จริงมาประดิษฐานที่ห้องประชุมศาลากลางจังหวัดสุโขทัย และสร้างเทวลัยที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “ศาลพระแม่ย่า” ต่อมาในปี พ.ศ. 2537 ผู้ว่าราชการจังหวัด พ่อค้า ประชาชน และข้าราชการ เห็นว่าศาลพระแม่ย่าหลังเก่าชำรุดทรุดโทรม ได้มีความคิดเห็นให้ทุบทิ้ง และสร้างศาลใหม่
ดังนั้นจึงถือว่า “ พระแม่ย่า ” เป็นของคู่บ้านคู่เมือง ประชาชนมีความเคารพเลื่อมใสศรัทธา เชื่อว่าปีใดเกิดฝนแล้ง ข้าวยากหมากแพงถ้าได้อัญเชิญพระแม่ย่าออกมาแห่ในวันสงกรานต์ เพื่อร่วมกันสรงน้ำ และขอพรพระแม่ย่า จะทำให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล จนกลายเป็นประเพณีแห่พระแม่ย่าในวันสงกรานต์ เพื่อให้ประชาชนได้สรงน้ำพระแม่ย่าจนถึงปัจจุบันกิตติศัพท์ความศักดิ์สิทธิ์ของ "พระแม่ย่าสุโขทัย" นั้นเลื่องลือไปทั่ว ด้วยความเชื่อที่ว่า พระแม่ย่าจะช่วยขจัดปัดเป่าความเดือดร้อนได้ สมัยก่อน ในวันมหาสงกรานต์จะมีประเพณีแห่เทวรูปพระแม่ย่า โดยเชื่อว่าจะทำให้ฝนตก ซึ่งก็มักจะเกิดฝนตกใหญ่ทุกครั้งที่นำเทวรูปองค์จริงออกแห่จริง ๆ
"พระแม่ย่า" ยังมีความเชื่อว่าช่วยดลบันดาลให้มีลูกได้ สำหรับคนมีลูกยาก ช่วยขจัดทุกข์ภัย โรคภัยไข้เจ็บ ขอให้ประสบความสำเร็จในตำแหน่งหน้าที่และกิจการงานต่าง ๆ เปรียบเสมือนมารดาผู้คอยปกป้องคุ้มครองดูแลบุตรอันเป็นที่รักโดยมิเคยรั้งรอ ดังนั้น เมื่อผู้ใดมีความทุกข์ความเดือดเนื้อร้อนใจ จะพากันไปศาลพระแม่ย่าเพื่อบนบานศาลกล่าว และก็มักจะประสบความสำเร็จโดยถ้วนทั่ว ซึ่งจะเห็นได้จากการที่ผู้คนมากมายเดินทางไปแก้บนด้วยหมูเห็ดเป็ดไก่ ดอกไม้ธูปเทียน ตลอดจนลิเกแก้บน เพราะเชื่อกันว่าพระแม่ย่าทรงโปรดลิเกแก้บนมาก
คาถาบูชาพระแม่ย่า (มนต์ขอลาภ-มงคล) ตั้งนะโม 3 จบ ตามด้วยบทสวด
อะหัง วันทามิ ขะพุงผีมะหาเทวะตา สัพพะอุปาทา สัพพะทุกข สัพพะโศก สัพพะโรค
อุปาทา วินาสายะ สัพพะสะตรู ปะมุจจะติ โอม ขะพุงผีมะหาเทวะตา สะทา รัพขันตุ สะวาหะ สะวาหายะ
เมื่อสวดคาถาเสร็จ ก็นำธูปเทียนไปปักที่กระถางธูป แล้วจึงนำดอกไม้เข้าไปถวายด้านในศาลพระแม่ย่า และกราบสักการะขอพร จากนั้นก็นำทองคำเปลวปิดทองเทวรูปพระแม่ย่าด้านนอกที่อยู่ตรงทางขึ้นทั้ง 2 ฝัง นี้ถือว่าเป็นการเสร็จการสักการะ สามารถวายบายศรี ผ้าสไบและชุดไทยที่มีภายในศาลพระแม่ย่า เพื่อความเป็นสิริมงคลตามความเชื่อของชาวสุโขทัย
ข้อมูลเนื้อหา เรียบเรียงโดย
: ฝ่ายประชาสัมพันธ์ กศน.อำเภอคีรีมาศ
ภาพโดย : เฟซบุ๊กที่นี่สุโขทัย https://www.facebook.com/ThiNiSukhothai และฝ่ายประชาสัมพันธ์ กศน.อำเภอคีรีมาศ
ข้อมูล TKP อ้างอิง : https://264sukhothai.blogspot.com/2021/08/blog-post_27.html?m=0
Post a Comment