TKP HEADLINE

หนังใหญ่วัดบ้านดอน มหรสพชั้นสูงของแผ่นดิน

 หนังใหญ่วัดบ้านดอน มหรสพชั้นสูงของแผ่นดิน

         "หนังใหญ่วัดบ้านดอน" ตั้งอยู่ในวัดบ้านดอน หมู่ที่ 4 ตำบลเชิงเนิน อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง ปัจจุบัน อาจารย์อำไพ บุญรอด เป็นผู้ดูแล สร้างขึ้นใน ปี พ.ศ. 2534 จากการปรับปรุงดัดแปลงจากศาลาธรรมสังเวชหลังเก่า โดยใช้งบประมาณจากเงินบริจาคเป็นอาคารคอนกรีตชั้นเดียว ทิศเหนือติดกับอุโบสถวัดบ้านดอน ทิศตะวันออก ติดกับศาลาธรรมสังเวชและฌาปนสถาน ทิศตะวันตก ติดต่อกับอาคารหลวงพ่อประสาทพร และทิศใต้ ติดกับสระน้ำมีขนาดพื้นที่ใช้สอยประมาณ 42 ตารางเมตร ใช้เป็นสถานที่เก็บตัวหนังที่ชำรุด และสถานที่แสดงนิทรรศการตัวหนังที่ยังอยู่ในสภาพที่ค่อนข้างสมบูรณ์ ที่ยังคงเหลืออยู่ประมาณ 7 ตัว เพื่อเป็นการอนุรักษ์และ สืบสานศิลปะการแสดงอันเก่าแก่ของไทย และเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับบุคคลทั่วไป มีอาคารโรงละครหนังใหญ่วัดบ้านดอน และอาคารพิพิธภัณฑ์หนังใหญ่วัดบ้านดอน ภายในอาคารพิพิธภัณฑ์จัดแสดง ตัวหนังใหญ่  ผ่านตู้เก็บตัวหนังเป็นกล่องไฟเพื่อให้เห็นลวดลายที่วิจิตรบรรจงบนหนังใหญ่นอกจากนี้ยังมีห้องประชุมเพื่อรับฟังคำบรรยาย ชมวีดีทัศน์การแสดงหนังใหญ่  ปัจจุบันหนังใหญ่ที่เคยมีอยู่จาก 200 ตัว ได้ผุพังไปบ้าง จึงได้มีการทำเพิ่มเติมอีก 77 ตัว และใช้เล่นแสดงร่วมกันกับหนังใหญ่ชุดเดิม เรื่องที่นิยมแสดง คือ เรื่องรามเกียรติ์ อิเหนา เป็นต้น



ตัวหนังสำคัญที่จัดแสดงไว้ คือ 

หนังเจ้าหรือหนังครู เป็นตัวหนังที่ใช้สำหรับพิธีไหว้ครูเท่านั้น ตัวหนังนี้ จะไม่ใช้ในการแสดง  ทำมาจากหนังเสือ ได้แก่ หนังฤๅษี หนังพระอิศวร หนังพระนารายณ์ 

หนังเฝ้าหรือหนังไหว้ เป็นภาพเดี่ยว เห็นหน้าด้านข้าง ตัวหนังอยู่ในท่าพนมมือไหว้ หนังชนิดนี้มีความสูงประมาณ 1 เมตร 

หนังคเนจรหรือหนังเดิน เป็นภาพเดี่ยว เห็นหน้าด้านข้าง หากเป็นตัวพระ ตัวนาง หรือตัวยักษ์ ตัวหนังอยู่ในท่าเดิน ถ้าเป็นภาพลิงจะเป็นท่าหย่อง 

หนังง่าหรือหนังเหาะ เป็นภาพเดี่ยว เห็นหน้าด้านข้าง เป็นตัวหนังทำท่าเหาะ ท่าแผลงศร ท่าถืออาวุธ

หนังเมือง เป็นหนังภาพเดี่ยวหรือหลายภาพในหนังผืนเดียว ตัวหนังที่มีลวดลายปราสาท ราชวัง หนังชนิดนี้ บางตัวสูงถึง 2 เมตร

หนังรถ เป็นหนังรูปลวดลายราชรถ มีทั้งตัวหนังเดี่ยว ๆ และหลายตัวในแผงเดียวกัน

หนังจับ เป็นหนังที่มีภาพตัวละครตั้งแต่สองตัวขึ้นไป อยู่ในหนังผืนเดียว ทำท่าสู้รบหรือจับกัน เป็นหนังที่มีความสูงพอกับหนังเมือง


รูปแบบการนำเสนอ, การจัดเนื้อหาภายในพิพิธภัณฑ์

  1. จัดเป็นพิพิธภัณฑ์แบบถาวร พิพิธภัณฑ์ได้แบ่งส่วนที่จัดเก็บหนังใหญ่ 2 แห่ง คือแห่งที่ 1 อาคารพิพิธภัณฑ์ ใช้จัดเก็บหนังชุดเก่า ส่วนที่เป็นหนังชำรุดจัดเก็บไว้ภายในห้องมีตู้ลิ้นชักเหล็ก 10 ชั้น ขนาด 1.5x 2.5 x 2.5 เมตร จำนวน 2 ใบ โดยจัดเก็บชั้น ละ 10 ตัวหน้าลิ้นชักมีรายชื่อตัวหนังติดอยู่ ตัวหนังที่มีสภาพสมบูรณ์จัดแสดงนิทรรศการ ตัวหนัง โดยจัดทำเป็นตู้กระจกติดผนังภายในมีตัวหนังติดแสดงไว้ และจัดทำเป็นกล่องสี่เหลี่ยมขนาดต่าง ๆ จึงด้วยผ้าขาวเป็นจอหนังและติดตั้งตัวหนังแสดง แห่งที่ 2 โรงละครหนังใหญ่ สร้างในปี 2551 ใช้เป็นสถานที่แสดงหนังใหญ่ สถานที่เก็บตัวหนังชุดใหม่ ซึ่งมีตัวหนังกว่า 100 ตัว และใช้เป็นสถานที่ฝึกซ้อม จัดเป็นแหล่งเรียนรู้หนังใหญ่ สำหรับนักเรียนนักศึกษา บุคคลทั่วไป ที่ต้องการนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ในด้านต่าง ๆ เช่น.วิทยานิพนธ์ การทำรายงาน งานการเรียนการสอน ฯลฯ จัดการแสดงหนังใหญ่ สำหรับผู้ที่มาเยี่ยมชมมีความประสงค์จะชมการแสดง และรับแสดงในงานทั่วไปจะจัดการแสดงตามกำหนดที่ได้มีการนัดหมายล่วงหน้าไว้แล้วเท่านั้น ระยะเวลาในการแสดงขึ้นอยู่กับคณะหรือนักท่องเที่ยวเสนอแนะเรื่องที่ต้องการรับชม

          2. จัดเป็นแหล่งเรียนรู้หนังใหญ่ สำหรับนักเรียนนักศึกษา บุคคลทั่วไป ที่ต้องการนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ เช่น วิทยานิพนธ์ การทำรายงาน งานการเรียนการสอน ฯลฯ

    3. จัดการแสดงหนังใหญ่ สำหรับผู้ที่มาเยี่ยมชมมีความประสงค์จะชมการแสดง และรับแสดงในงานทั่วไป




องค์ประกอบสำคัญในการแสดงหนังใหญ่ ได้แก่
  1. ตัวหนัง ทำจากแผ่นหนังวัวแห้งขนาดใหญ่ แกะสลัก ฉลุลวดลาย สวยงามเป็นตัวละครต่างๆ ตรึงแผ่นหนังด้วยก้านไม้
  2. จอหนัง ซึ่งจอด้วยผ้าขาวในแนวสูงและ กว้าง รอบจอใช้ผ้าสีแดง ทาบริมทั้งสี่ด้าน เพื่อคนดูจะได้มองเห็นถนัดตา
  3. ดนตรีประกอบ การแสดงใช้วงปี่พาทย์ เครื่องใหญ่
  4. ผู้เชิด เป็นชายมีหน้าที่บังคับตัวหนังให้เคลื่อนไหว
  5. ผู้พากย์และเจรจามี 2 คน
  6. อุปกรณ์สร้างแสงสว่างในยามค่ำคืน ในสมัยโบราณใช้การก่อไฟเผา กะลามะพร้าวเพื่อให้เกิดแสงนวล จับหน้าจอสวยงาม
  7. วรรณกรรมที่ใช้แสดงนิยมแสดงเรื่องรามเกียรติ์การแสดงหนังใหญ่ จึงเป็นการผสมผสานศิลปะหลายแขนง คือ หัตถศิลป์ วรรณศิลป์ นาฎศิลป์ วาทศิลป์ และคีตศิลป์

              พิธภัณฑ์หนังใหญ่วัดบ้านดอน เป็นภูมิปัญญาเชิงอนุรักษ์วัฒนธรรมไทย ซึ่งเป็นสถานที่สืบทอดมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมการแสดงหนังใหญ่ และเก็บรักษาตัวหนังใหญ่ ให้รุ่นลูกรุ่นหลานได้เรียนรู้ หนังใหญ่เป็นศิลปะการแสดงเก่าแก่ของไทย มหรสพที่เก่าแก่ของไทย กล่าวกันว่ามีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยแต่หลักฐานการแสดงหนังใหญ่เริ่มมีในสมัยกรุงศรีอยุธยา นับว่าเป็นมรดกตกทอดทางวัฒนธรรมที่มีคุณค่าท้องถิ่นและของประเทศไทย ที่ต้องอนุรักษ์และสืบทอดไว้ให้คงอยู่ต่อไป การแสดงหนังใหญ่ เป็นศิลปะการแสดงชั้นสูง ที่ผสมผสานศิลปะหลายด้าน ทั้งหัตถศิลป์ นาฎศิลป์ วรรณศิลป์ และคีตศิลป์ ปัจจุบันหนังใหญ่ที่ยังมีการสืบสานการแสดงอยู่เหลือเพียง 2 คณะเท่านั้น คือ หนังใหญ่วัดขนอนจังหวัดราชบุรี และหนังใหญ่วัดบ้านดอน จังหวัดระยอง
                หนังใหญ่วัดบ้านดอน เป็นวัดเก่าแก่คู่เมืองระยองมานับตั้งแต่ พ.ศ. 2432 สิ่งที่เป็นดั่งสัญลักษณ์ของวัดนี้ นอกจากหลวงพ่อประสาทพร ที่ชาวระยองให้ความเคารพแล้ว ยังมีพิพิธภัณฑ์หนังใหญ่ ที่เก็บรักษาหนังใหญ่อายุร่วม 200 ปี ซึ่งพระยาศรีสมุทรโภคชัยโชคชิด บังคราม (บ้างว่า พระยาศรีสมุทรโภคชัยโชคชิตสงคราม หรือ เกตุ ยมจินดา) เจ้าเมืองระยองคนแรก ได้ซื้อหนังชุดนี้ขณะที่แสดงอยู่ที่พัทลุง จำนวนกว่า 200 ตัว เพื่อใช้แสดงในงานสำคัญต่าง ๆ และได้จ้างครูหนังหรือนายโรงมาเป็นครูฝึกถ่ายทอดให้กับคนในปกครองของพระยาศรีสมุทรโภค ชัยโชคชิตสงคราม เพื่อสืบทอดต่อมา ข่าวจากเครือญาติของท่านเล่าว่า ในการนำหนังใหญ่ที่ซื้อจากพัทลุงมานี้ได้นำเรือแล่นข้ามอ่าวไทยฝ่าคลื่นใหญ่ลมแรง หนังมนุษย์ซึ่งช้อนอยู่ข้างบนตัวหนังบางตัวหล่นลงทะเล ต้องตามเก็บตัวละครสำคัญ คือนางสีดา (นางเอก) ช่วยกันหาอยู่นานก็ไม่พบ ผลสุดท้ายพบได้ คือติดอยู่ที่หางเรือสำเภา ซึ่งเชื่อว่าคงเป็นเพราะพระรามกับนางสี่ดา พระเอกกับนางเอกของเรื่องในตอนจบจะไม่พรากกันแน่นอน



                หนังใหญ่ของวัดบ้านดอน นี้ไม่ปรากฏข้อมูลแน่ชัดว่าใครเป็นผู้สร้าง สร้างเมื่อไหร่ นักวิชาการบางท่านกล่าวว่า หนังใหญ่ชุดนี้มีลวดลายละเอียดงดงามมาก สันนิษฐานว่าเป็นฝีมือของช่างหลวงลวดลายคล้ายหนังใหญ่ชุดพระนครไหว ที่สร้างขึ้นสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 บางท่านกล่าวว่าหนังใหญ่ชุดนี้อาจเป็นฝีมือของช่างสองสกุล คือ สกุลช่างกรุงเทพฯ และสกุลช่างอยุธยา แต่ข้อที่ว่าหนังชุดนี้สร้างขึ้นเมื่อใดนั้น ไม่มีหลักฐานปรากฎแน่ชัด หนังชุดนี้นำมาแสดงและเก็บรักษาไว้ที่วัดจันทอุดม (วัดเก๋ง) ซึ่งเป็นวัดพระยาศรีสมุทรโภคชัยชิตสงคราม (เกตุ ยมจินดา) เป็นผู้สร้าง ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของโรงพยาบาลระยอง (ยังคงเหลือหลักฐานของวัดเพียงเจดีย์องค์เดียว ซึ่งกรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนโบราณสถานแล้วเมื่อปี พ.ศ. 2538)

                หลังจากนั้นประมาณ พ.ศ. 2430  วัดบ้านตอนได้สร้างขึ้นแล้ว และผู้แสดงประจำโรงหนังนี้ที่ฝึกรับการถ่ายทอดมาจาก ครูประดิษฐ์ ครูหนังคนเดิมที่มาสอนให้ก็เป็นคนชาวบ้านชากใหญ่ ใกล้วัดบ้านดอน ตอนปี่พาทย์ก็เป็นคนชาวทุ่งโพธิ์ไม่ห่างไกล ง่ายกับการฝึกนัดซ้อม และไปแสดงตามจังหวัดที่ต้องการ จึงได้นำหนังใหญ่ดังกล่าวมาถวายวัดบ้านดอน อำเภอเมืองระยอง ในปัจจุบัน อาจารย์อำไพ บุญรอด เป็นผู้ดูแลหนังใหญ่วัดบ้านดอน และได้รับการสนับสนุนส่งเสริมภายใต้การกำกับดูแลของพระใบฎีกาวัฒนา อติสุโภ เจ้าอาวาสวัดบ้านดอนรูปปัจจุบัน ร่วมกับคณะกรรมการอนุรักษ์หนังใหญ่วัดบ้านดอน และหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อสืบสานและเผยแพร่หนังใหญ่ในรูปแบบต่าง ๆ หนังใหญ่วัดบ้านดอนยังคงออกแสดงในงานต่าง ๆ อย่างสม่ำเสมอ มีนักแสดงรุ่นเยาวชนเป็นผู้เชิด และมีพิพิธภัณฑ์ซึ่งเปิดเข้าชมได้ทุกวัน ตลอดจนโรงละครหนังใหญ่ที่ใช้สำหรับการแสดงเชิงสาธิตการเรียนรู้ การฝึกสอนให้กับนักเรียน นักศึกษา และเป็นภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของตำบลเชิงเนิน ปัจจุบันนอกจากเก็บรักษาไว้ให้อนุชนรุ่นหลังได้ชมแล้ว ชุมชนวัดบ้านดอนยังได้ทำการสืบสานประเพณีการเชิดหนังใหญ่ให้แก่ลูกหลานของชาวชุมชน


ตำแหน่งที่ตั้ง : วัดบ้านดอน หมู่ที่ 4 ตำบลเชิงเนิน อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง 21000
โทรศัพท์ : 081-295 6069, 087-745 9925
วันและเวลาทำการ : เปิดทุกวัน เวลา 09.00 - 17.00 น
ค่าเข้าชม : ไม่เสียค่าเข้าชม

ข้อมูลเนื้อหา เรื่องราว เขียนโดย นางสาวชริสรา  เคหาวิตร
            ภาพถ่าย/ภาพประกอบ โดย นางสาวชริสรา  เคหาวิตร/เพจหนังใหญ่วัดบ้านดอนระยอง


ดาวน์โหลดเอกสาร

Share this:

Post a Comment

ข้อคิดเห็นจากเครือข่าย TKP

 
Copyright © 2018 Thailand Knowledge Portal. Designed by OddThemes > Developed by mediathailand