ขนมที่เป็นได้ทั้งของหวานและของคาว ในบรรดาขนมไทยต้องยกให้ขนมถั่วตัดมาอันดับหนึ่ง เป็นขนมชนิดเดียวที่มีการนำไปใช้เป็นส่วนผสมของอาหารคาวได้ มีส่วนประกอบสำคัญ คือ ถั่ว ซึ่งมีคุณค่าทางโภชนาการสูง เป็นขนมที่รับประทานแล้วได้ประโยชน์แน่นอน ในอำเภอเฉลิมพระเกียรติ มีชุมชนที่ริเริ่มและทำขนมถั่วตัดให้เป็นของดีของดังประจำชุมชนอยู่ที่บ้านรวงทอง หมู่ที่ 3 ตำบลหนองงูเหลือม อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดนครราชสีมา
ขนมถั่วตัดรวงทอง เป็นขนมที่มีมานานกว่า 100 ปีแล้ว มีเรื่องเล่าว่า เมื่อก่อนเป็นการทำขนมทอฟฟี่ถั่วไว้กินเองในครอบครัวโดยไม่ต้องซื้อ เพราะอาหารประเภทถั่วมีประโยชน์กินแล้วแข็งแรง วัตถุดิบก็หาได้ง่ายภายในหมู่บ้าน บางครั้งใช้วิธีแลกเปลี่ยนกับข้าวสารบ้าง น้ำมันก๊าดบ้าง ต่อมาแม่ได้นำลูก ๆ ทำขนมทอฟฟี่ถั่วแล้ววางขายในร้านค้า และขายในงานวัด ซึ่งสมัยก่อนจะใช้เตาดิน ก้อนเส้า กระทะเหล็ก ในการกวนขนม ราคาขายในสมัยนั้นอยู่ที่ 1 ชิ้น 5 สตางค์ พอจะมีรายได้เลี้ยงครอบครัว
ในปี พ.ศ. 2536 แม่ดวงใจ ทิศกลาง กับนางขวัญจิต ขีดกลาง ได้ช่วยกันทำขนมถั่วตัด โดยเริ่มทำขนมเพียงสองครอบครัว เป็นการลองผิดลองถูก ค้นหาสูตรที่ดีที่สุดในการทำขนมถั่วตัด แล้วทำขายภายในหมู่บ้าน และโรงเรียน หลังจากนั้นแม่ดวงใจ และนางขวัญจิต ได้มีโอกาสไปศึกษารูปแบบการทำขนมถั่วตัดจากอำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา เพื่อนำมาปรับปรุงพัฒนาสินค้าของตนเอง แล้วเริ่มผลิตถั่วกระจก และงาตัดจำหน่ายเรื่อยมา
ขนมถั่วตัดมีขั้นตอนการทำโดยเริ่มจากเคี่ยวน้ำตาลกับแบะแซให้เหลืองและเหนียว จากนั้นใส่ถั่วที่คั่วจนสุกแล้วลงไปคนกับน้ำตาลเคี่ยวให้เข้ากัน เทลงบนภาชนะที่รองด้วยงา คลึงให้แบนด้วยไม้แล้วตัดด้วยมีดเป็นชิ้นขนาดพอดี ทิ้งไว้ให้แข็งตัวและเย็น นำบรรจุใส่ถุงปิดปากถุงให้แน่นเพื่อกันความชื้น สามารถเก็บไว้ทานได้นานหลายเดือน
เคี่ยวน้ำตาลกับแบะแซให้เหลืองและเหนียว จากนั้นใส่ถั่วที่คั่วจนสุกแล้วลงไปคนกับน้ำตาลเคี่ยวให้เข้ากันเทลงบนภาชนะที่รองด้วยงา
เมื่อปี พ.ศ. 2542 ได้มีการรวมกลุ่มกันจัดตั้งเป็น “กลุ่มขนมถั่วตัดรวงทอง” ให้โอกาสชาวบ้านในบ้านรวง และหมู่บ้านใกล้เคียงเข้ามาเป็นสมาชิก ประมาณ 30 ครอบครัว ผลิตสินค้าขนมถั่วตัด งาตัด ถั่วทอดสมุนไพร วางจำหน่ายในอำเภอเฉลิมพระเกียรติ ในงานประจำปีฉลองชัยชนะท้าวสุระนารี (คุณย่าโม) และงานนิทรรศการหรืองานต่าง ๆ ที่ส่วนราชการจัดขึ้น ทำให้กลุ่มขนมถั่วตัดรวงทองมีสมาชิกเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
ข้อมูลอ้างอิงจาก องค์การบริหารส่วนตำบลหนองงูเหลือม
ข้อมูลเนื้อหา เรื่องราว เขียนโดย นางสาวรวีวรรณ เชิงชัยภูมิ
ภาพถ่าย/ภาพประกอบ โดย นางสาวรวีวรรณ เชิงชัยภูมิ
Post a Comment